เคยไหมที่แต่งภาพดูจากหน้าจอเราสวย พอไปเปิดหน้าจออื่นแล้วแล้วสีเพี้ยน จริงๆก็มีหลายสาเหตุ เช่นปริภูมิสี แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ สีหน้าจอเพี้ยน สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีที่เรียกว่า คาลิเบรทหน้าจอ
สำหรับช่างภาพมืออาชีพแล้วนั้นจอภาพที่ให้สีตรงนั้นสำคัญมาก และอุปกรณ์คาริเบรทในตลาดที่นิยมใช้กันคือ Spyder และ i1 ถามว่าตัวไหนดีกว่า ช่างภาพมืออาชีพหลายท่านที่ผมรู้จัก มักจะแนะนำ i1 DisplayPro กันทั้งนั้น เขาให้เหตุผลว่า เร็วและแม่นยำกว่า ดังนั้นวันนี้เราจะมาแคลจอกันด้วย i1 DisplayPro เลย
มาดูหน้าตาของมันก่อนครับ น้ำหนักไม่เยอะ ด้านหนึ่งเป็นสาย USB อีกด้านหนึ่งเป็นตัวรับภาพจากหน้าจอแล้วประมวลผล และมีตัวถ่วงน้ำหนักให้แขวนกับจอได้ แต่ก่อนที่จะแคลจอควรเปิดหน้าจอทิ้งไว้ซัก 30 นาที
จอที่ผมจะมาแคลวันนี้เป็น Dell U2414H เป็นจอระดับกลาง ราคาไม่แรง ส่วนมากถ้าลูกเพจ inbox มาขอคำแนะนำเรื่องจอ งบไม่เกินหมื่น ผมมักจะแนะนำตัวนี้ไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานด้วย
โปรแกรมที่จะใช้วันนี้ก็เป็น i1 profiler ที่แถมมากับเครื่อง i1 DisplayPro หน้าตามันก็จะประมาณนี้ โปรแกรมนี้ก็มี 2 โหมด คือ Basic และ Advanced ซึ่งโหมด Advanced จะมีขั้นตอนเยอะกว่า เราจะมาลองโหมด Advanced กัน ถ้าทำ Advanced ได้ Basic ก็สบายเพราะเป็นการลดขั้นตอนต่างๆลง เลือก Advanced และ กด Profiling ในเมนู Display
คราวนี้มาเลือกหน้าจอ ผมต่อหน้าจอ 2 ตัวอยู่คือ DELL U2414H กับ DELL U2412M ซึ่งภาวนาให้จอ DELL U2412M พังอยู่เพราะจะได้ใช้จอขอบบาง DELL U2414H ทั้ง 2 ตัว ต่อกันจะฟินมาก แต่ใช้มากกว่า 5 ปีละ ยังไม่พังเลย ฮ่าๆๆ
เราคลิ๊กไอคอนรูปจอที่จะแคล แล้วเลือกชนิดหลอดไฟส่องหลังจอภาพ ซึ่งเพื่อนๆต้องไปดูสเปคจอว่าใช้เทคโนโลยีอะไร ของผม White LED ถ้าเลือกตรงกับความเป็นจริงจะช่วยให้การแคลจอมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ค่า White Point หรืออุณหภูมิแสงขาว แนะนำให้ตั้งไว้ที่ D65 (6500K)
ส่วนความสว่างหรือ luminance ตั้งประมาณ 90-120 cd/m แล้วแต่สภาพแสงของห้อง ผมแนะนำให้ตั้งค่า 100 สำหรับโน๊ตบุ๊ค และ 120 สำหรับหน้าจอตั้งโต๊ะ
ค่า Contrast Ratio เป็นค่าอัตราส่วน “สีดำที่ดำที่สุดและสีขาวที่ขาวที่สุด” แสดงถึงความสามารถในการไล่ความสว่างของเฉดสีต่างๆ ได้หลายระดับมากขึ้น ทำให้มองเห็นรายละเอียดต่างๆ ในภาพชัดเจนขึ้น มีให้เลือกค่ามาตรฐาน ICC คือ 287 : 1 หรือ Custom เองได้ ใครที่ไม่เข้าใจให้เลือก Native ซึ่งจอ DELL U2414H ค่า Contrast Ratio อยู่ที่ 1000:1
Gamma ตั้งไว้ที่ค่ามาตรฐาน 2.2
Flare Correct
หากคุณทำงานด้วยแสงไฟหลักที่มาด้านหลังหรือด้านข้าง มันอาจเกิดแฟลร์หรือแสงสะท้อนบนหน้าจอ ให้ติ๊ก Flare Correct ไว้
ส่วน Ambient light smart control ไม่ต้องไปติ๊กครับ มันต้องต่อจอตลอดเวลาเพื่อปรับแสงหน้าจอตามสภาพแสงโดยรอบ
เสร็จแล้วกด Next
Profile Setting
ให้เลือก Default ไปหมดเลยก็ได้ แต่สำหรับใครที่เลือก ICC เวอร์ชั่น 4 แล้ว เปิดโปรแกรมดูภาพบางโปรแกรมแล้วสีเพี้ยน อาจต้องเลือกเวอร์ชั่น 2 แทนเพราะมันรองรับกับหลายโปรแกรมมากกว่า
Patch Set
เป็นการเลือกจำนวนสีที่คาลิเบรต ยิ่งสีเยอะยิ่งใช้เวลานาน แต่ก็แม่นยำมากขึ้น ในส่วนนี้ถ้าเป็นโหมด Basic จะเลือกแบบ Medium ให้อัตโนมัติ ถ้าเลือกแบบ Large ใช้เวลาประมาณ 8 นาที
ด้านซ้ายจะมีให้เลือกว่าเราจะปรับค่าเอง หรือให้คอมพิวเตอร์ปรับให้ ในที่นี้ผมเลือกปรับเอง แล้วกด Start Measurement ได้เลย
กด Next แล้วโปรแกรมจะให้เสียบเสียบสาย USB และแขวน i1 DisplayPro ตรงหน้าจอให้เครื่องอยู่ตรงกลาง ดังภาพ
และปรับค่าความสว่าง และ Contrast ให้ได้ค่าตามที่เราตั้งไว้ จอบางรุ่นปรับ RGB ได้ก็ให้เลือก RGB ด้วย
ผมตั้งไว้ 100 ก็ปรับให้ใกล้เคียงที่สุด ต่อไปก็กด Next แล้วรอให้จอส่งสีต่างๆ มาให้เครื่องวัด
เมื่อเสร็จแล้วก็หมุนเครื่องกลับ แล้วกด Next
สร้าง Profile ขึ้นมา เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็มีกราฟผลลัพธ์มา
Curve สี RGB ถ้าเป็นจอดีๆที่มี Hardware Calibrate ในตัวจะให้เส้นที่เท่ากัน แม่นยำมาก และราคาสูงเช่นกัน
ดูผลลัพธ์ก่อนหลัง ที่เป็นรูปภาพต่างๆได้
กดปุ่ม Home ออกมา เช็คผลการคาริเบรทโดยการกด Quality ที่หมวด Display กด Start Measurement วัดค่าอีกครั้ง ให้ดูค่า Delta-E หรือค่าความคลาดเคลื่อน ไม่ควรเกิน 3 ยิ่งน้อยยิ่งดี ของผมอยู่ที่ 1.25 ถ้าจากให้ดีมากๆ ต้องน้อยกว่า 1 ครับ
การคาริเบรทจอนั้นสำหรับงานมืออาชีพแล้วควรทำสัปดาห์ละครั้งกันเลยครับ หวังว่าบทความนี้ช่วยให้เพื่อนๆ ตะหนักถึงเรื่องสีหน้าจอ และสามารถใช้ i1 display pro ในการคาริเบรทหน้าจอกันได้นะครับ
