Conceptual Photography โดยคุณ Sornsak Sakbodin

0
Sornsak Sakbodin, Conceptual photography
Sornsak Sakbodin, Conceptual photography

สมัยที่ผมเรียนถ่ายภาพ ไม่มีคำว่า Conceptual Photography ใช้กัน มีแต่คำว่า Conceptual Art ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภท Paintings, Drawings และ Graphics เมื่อได้เห็นคำว่า Conceptual Photography 

ครั้งแรกเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ก็เกิดความสงสัยอยู่ในใจ ว่ามันคืออะไร เราพลาดไปได้อย่างไร จึงได้ค้นหาอ่านในหนังสือ ในนิตยสารต่างประเทศ และบน internet จึงรู้ว่ามันคือคำใหม่ (สำหรับคนรุ่นผม) … และข้อเขียนนี้ก็อิงมาจากแหล่งข้อมูลดังกล่าว ผสมกับความรู้เดิมที่พอมีอยู่ ที่เกี่ยวข้องกัน

การเคลื่อนไหวในวงการศิลปะมีมากันมากมายตั้งแต่ไหน แต่ไรแล้ว และในช่วงศตวรรษที่ 20 นี่เอง ก็ได้มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ Conceptual Art ซึ่งผมจะไม่พูดถึงรายละเอียด ความตั้งใจมีเพียงแค่ต้องการที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดว่า Conceptual Photography คืออะไร

ในช่วงที่ผมเรียนถ่ายภาพนั้น มี Avant-garde Photography ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของ Art Photography … คำว่า Avant-garde หมายถึง การทดลอง การทำอะไรที่แปลกใหม่ และการทำที่ต่างไปจากธรรมดา เมื่อรวมจากที่ได้อ่านๆมา ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า Conceptual Photography กับ Avant-garde Photography นั้น มีจุดประสงค์เดียวกัน ต่างกันที่ชื่อเท่านั้นเอง และอีกอย่างหนึ่งคำว่า Avant-garde Photography ก็ได้เลือนหายไปจากวงการถ่ายภาพ ผมจึงตีขลุมเอาว่า Conceptual Photography ก็คือ Avant-garde Photography นั่นเอง…ผิดพลาดประการใด แนะนำกันด้วยครับ

การถ่ายภาพแนว Avant-garde / Conceptual เป็นการถ่ายภาพที่ต้องการถ่ายทอดสิ่งที่ต่างออกไปจากการถ่ายภาพธรรมดา หรือแนวอื่นๆ เช่น Landscapes, Architectural, Photojournalism, life หรือ Documentary เป็นต้น ซึ่งแต่ละแนวที่เอ่ยมานั้น ล้วนแต่เป็นการถ่ายทอดให้เห็นความจริง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือได้รับการสร้างขึ้นมา โดยมิได้มีการบิดเบือนจากความเป็นจริง แต่ Avant-garde / Conceptual Photography เป็นการนำเสนอสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นการนำเสนอให้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นการนำเสนอสิ่งที่ผู้ถ่ายได้ใส่ความคิด (concept) ของตนเข้าไป ภาพอาจจะมีความเป็นนามธรรมอยู่บ้าง  ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเป็นการสื่อให้เห็นทางด้านความคิดของผู้ถ่าย ให้ดูว่าความหมายในภาพคืออะไร มากกว่าตัวภาพเอง บางภาพจะมีแค่ความหมายเดียว แต่บางภาพ อาจจะตีความได้มากมาย แล้วแต่ว่ามันซับซ้อนเพียงไร

สิ่งที่ผู้ที่คิดจะถ่ายภาพแนว Conceptual Photography จะต้องมี คือ จะต้องมีกรอบความคิด (conceptof the photo) ที่จะนำเสนอ ต้องมีมโนภาพ ตั้งเป็นโจทย์ไว้ก่อน แล้วก็หาสิ่งที่ได้คิดเอาไว้ (subject) กับแนวหรือวิธีนำเสนอ (presentation) จะใช้สัญญลักษณ์ หรือภาพ หรือตัวหนังสือหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ผลิตเป็นผลงานออกมา แสดงให้ผู้ชมเห็นว่าเป็นงานถ่ายที่มี concept ที่ถ่ายทอดออกมาจากความคิด จากการใช้จินตนาการ ในการทำสิ่งที่ธรรมดาสามัญให้แปลกออกไปจากความเป็นจริง

เทคโนโลยี่ในปัจจุบันช่วยให้ช่างภาพสามารถผลิตภาพประเภท Conceptual Photography ได้ง่ายขึ้น และดูสมจริงมากขึ้น หรือทำอะไรที่กล้องฟิล์มในอดีตไม่สามารถทำได้ บ่อยครั้งที่ Conceptual Photography ใช้ในการสื่อสาร ถ่ายทอดอารมณ์ หรือบอกเป็นนัย เกี่ยวกับผู้คน การเมือง หรือสังคม ภาพที่ใช้อาจจะไม่ใช่เป็นภาพที่ถ่ายเพียงครั้งเดียว อาจจะเป็นการซ้อนฟิล์ม ถ่ายซ้อน หรือว่าอาจจะมีการไปต่อเติมกับภาพอื่น ภาพจะออกมาสะเทือนอารมณ์ หรือสร้างความประทับใจ ก็แล้วแต่ที่ผู้ถ่ายได้วาง concept ไว้

การถ่ายภาพ Conceptual Photography เป็นที่นิยมใช้ในงานโฆษณา หรืองาน Public Service ตัวอย่างที่ผมจำได้ติดตา คือปืนลูกโม่ ที่กระสุนในลูกโม่คือบุหรี่ แทนลูกปืน เป็นการสื่อสารให้เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นต้น … ผมจะไม่ยกตัวอย่างภาพมาให้ดู เพราะมันมีหลากหลาย ลองพิมพ์คำว่า Conceptual Photography แล้วให้อากู๋พาไป จะเห็นตัวอย่างมากมายครับ

สรุปแล้วงาน Conceptual Photography ก็คือ ภาพถ่ายที่เราไม่ได้มองแค่ภาพที่เห็น แต่เป็นภาพที่เรามองที่ concept (ความคิดของผู้ถ่าย), subject (สิ่งที่นำมาใช้ในการสื่อสาร), symbols (การใช้สัญญลักษณ์) และ aesthetics (ความสวยงาม ที่อยู่ในภาพ) และ interpretation (การตีความหมาย) อาจจะเป็นภาพที่ดูง่ายๆ หรือเป็นภาพที่มีความซับซ้อน ก็ขึ้นอยู่กับผู้ถ่าย

credits: Sornsak Sakbodin