DSLR และ Mirrorless อะไรดีกว่ากัน

1

สมัยก่อนเมื่อมีคนมาถามด้วยคำถามง่ายๆว่าอยากได้กล้องดีๆ เน้นคุณภาพ ถ่ายรูปสวยๆ เอากล้องตัวไหนดี เราก็ตอบแบบง่ายๆว่า “กล้อง DSLR ซิ” แต่เมื่อปี พ.ศ. 2552 Olympus ได้เปิดตัว  Pen E-P1 กล้อง mirrorless เซนเซอร์ Micro Four Thirds ขนาดกระทัดรัดตัวแรกขึ้น(พกพาง่ายและเลนส์เล็ก) ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ทำให้มีคนที่จะเข้าสู่วงการหลายคนที่ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเอากล้องตัวไหนดี ระหว่าง DSLR และ Mirrorless จึงนำบทความเปรียบเทียบที่เป็นปัจจัยหลักๆในการเลือกซื้อมาให้อ่านกัน

ทำความเข้าใจคร่าวๆ

กล้อง DSLR แสงจะเข้ามาในกล้องผ่านเลนส์ และมีกระจกสะท้อน และผ่าน ปริซึม 5 เหลี่ยม ไปยังช่องมองภาพ และเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์กระจกจะถูกยกขึ้นและแสงเข้าไปยังเซนเซอร์ตรงๆ ทำให้เกิดภาพ แต่เทคโนโลยีใหม่ก็เกิดขึ้นพบว่าไม่ต้องพึ่งพากระจกอีกต่อไป จึงทำให้เกิดกล้อง Mirrorless ขึ้นมา

รูปร่าง ขนาด และ น้ำหนัก

เนื่องจากต้องมีกลไกกระจกด้านในทำให้กล้อง DSLR มีขนาดใหญ่กว่า ขนาดก็มาพร้อมกับน้ำหนักที่มากกว่า แต่มีหลายคนที่ชอบรูปร่าง DSLR เนื่องจากจับถนัดมือ และดูเหมือนเป็นมืออาชีพมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี่เป็นความชอบส่วนบุคคลครับ น้ำหนักเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องคิดให้ดี ผมเห็นบางคนบอกก่อนซื้อว่า โหยแค่นี้สบายทนได้ แต่สุดท้ายตั้งกล้องอยู่บ้านไม่ค่อยอยากออกไปถ่ายที่ไหนเพราะหนัก แต่ก็มีบางคนที่ทนได้จริงๆ และเขาก็มีทางแก้ปัญหาของเขา

แบตเตอรี่

เนื่องจากกล้อง mirrorless เน้นขนาดที่เล็ก ทำให้แบตเตอรี่ก็เล็กตามไปด้วย เล็กแล้วยังไม่พอยังฉลาดอีก มีแอพต่างๆมากมาย process ให้จบหลังกล้องเลย (เช่น จะถ่ายน้ำตกให้นุ่มแต่ไม่มี ND filter ก็ถ่ายหลายภาพมา blend รวมกัน) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้เปลืองแบตเหมือนกัน และเนื่องจากไม่มีกระจกสะท้อนภาพให้เห็น ต้องใช้ช่องมองภาพแบบอิเลคทริค (EVF) ทำให้เปลืองแบตเข้าไปอีก 

แบตเตอรี่เฉลี่ยของ DSLR ต่อภาพอยู่ที่ประมาณ 600-800 ภาพ บางรุ่นอาจเกิน 1,000 ภาพ ต่อการชาร์จ 1 ก้อน
แบตเตอรี่เฉลี่ยของกล้อง Mirrorless อยู่ที่ประมาณ 300-400 ภาพ ควรซื้อแบตเพิ่ม

คุณภาพของภาพ

กล้อง DSLR ส่วนใหญ่จะใช้ เซนเซอร์ APS-C หรือ full-frame ในขณะที่ กล้อง mirrorless ก็มีเหมือนกัน และมี format ที่เล็กกว่าด้วย เช่น Micro Four Thirds ที่ใช้ใน  Panasonic และ Olympus เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบก็ต้องเทียบเป็นรุ่นๆไป เช่น กล้อง DSLR full-frame จะให้คุณภาพที่ดีกว่า Mirrorless แบบ Micro Four Thirds หรือ กล้อง DSLR เซนเซอร์ APS-C จะให้คุณภาพที่ด้อยกว่า Mirrorless full-frame

ความเร็วออโต้โฟกัส

เมื่อก่อน DSLR เคยได้เปรียบเพราะมีระบบโฟกัสแบบ phase detection ซึ่งกล้อง Mirrorless ถูกจำกัดแค่ contrast detection ที่โฟกัสได้ช้ากว่า โดยเฉพาะที่ๆแสงน้อย แต่ตอนนี้ Mirrorless ก็มี phase detection แล้ว ทำให้ความเร็วออโต้โฟกัสนั่นพอๆกัน แต่สำหรับ DSLR หลายรุ่นตัว phase detection จะอยู่ใต้กระจก และทำงานเมื่อกระจกลง เมื่อยกกระจกขึ้นเป็นโหมด Live view  จะถ่ายรูปหรือวีดีโออาจโฟกัสได้ช้ากว่า

ช่องมองภาพ

ช่องมองภาพของกล้อง DSLR จะเห็นภาพเหมือนที่เราเห็นฉากนั้นจริงๆ เพราะเป็นภาพที่สะท้อนผ่านกระจกเข้าตาเรา แต่ mirrorless จะต้องดูภาพก่อนถ่ายหลังกล้อง หรือบางรุ่นที่แพงขึ้นไป จะมี ช่องมองภาพแบบอิเลคทริค (EVF) ซึ่งเป็นภาพที่สร้างขึ้นมาโดยกล้อง(ถ้าปิดกล้องหรือถอดแบต DSLR สามารถมองเห็นภาพได้อยู่แต่ mirrorless ไม่สามารถทำได้) ภาพที่สร้างขึ้นมาให้ใน EVF นั้นจะให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับภาพผลลัพธ์ที่ได้หลังกดชัตเตอร์ หากถ่ายในสภาพที่มีแสงพอสมควรประสิทธิภาพจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ในกรณีแสงน้อย ภาพที่ได้จาก EVF จะมี noise และอาจกระตุกๆ ขณะที่ DSLR จะเห็นผ่านกล้องเหมือนที่ตามองเห็นฉากจริงๆ ซึ่ง DSLR ทำได้ดีกว่าในสภาวะแสงน้อย

กันสั่น

การสั่นส่วนใหญ่เกิดจากมือที่ถือกล้องสั่น,ความเร็วชัตเตอร์ และระยะซูม ซึ่งถ้าพูดถึงกล้อง (ไม่นับเลนส์) จะพอๆกัน จะมีฟังก์ชั่นบางตัวมาช่วยลดกันสั่นเล็กน้อย ยกเว้นกล้อง mirrorless บางตัว ที่มีกั่นสั่น 5 แกน ทำให้ช่างภาพสายวีดีโอหลายคนย้ายมาใช้ mirrorless ระดับ high-end เนื่องจากให้วีดีโอที่ลื่นกว่า 

คุณภาพวีดีโอ

เนื่องจากระบบโฟกัสที่ฝังไปในเซนเซอร์ทำให้ กล้อง mirrorless  ระดับ high-end เคยได้เปรียบในจุดนี้ เพราะ DSLRs ไม่สามารถใช้ phase detection หากกระจกยกขึ้น ตอนถ่ายวีดีโอ ทำให้โฟกัสได้ช้ากว่า แม่นยำน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม DSLR รุ่นใหม่ๆ มีการเพิ่ม phase detection ลงบนเซนเซอร์แล้ว 

กล้อง mirrorless ส่วนใหญ่ให้วีดีโอคุณภาพระดับ 4K มาแล้ว ในขณะที่ DSLR หลายตัวยังกั๊กๆอยู่ ก็ต้องเปรียบเทียบเป็นรุ่นๆไป

เลนส์

DSLR มีเลนส์ให้เลือกหลายแบบหลายช่วงมากกว่า และ Mirrorless ก็มีช่วงเลนส์ที่ใช้ทั่วไปให้เลือกกัน แต่จะน้อยกว่า DSLR แบบเห็นได้ชัด แต่ Mirrorless ก็สามารถใช้เลนส์ของ DSLR ได้โดยใช้ Adapter แต่บางรุ่นจะใช้บางฟังก์ชั่นไม่ได้ เรียกง่ายๆว่าอาจไม่รองรับ 100%

ชัตเตอร์ ความเร็วชัตเตอร์ และการถ่ายต่อเนื่อง

กล้อง DSLR ความชัตเตอร์เกิดจากการยกกระจกขึ้นลง (physical) เห็นได้จากวีดีโอ slow motion ด้านบน ทำให้เป็นข้อจำกัดด้านความเร็ว ซึ่งตัว EOS-1D X Mark II ตอนนี้ FPS น่าจะอยู่ที่ 14 fps ในขณะที่ Olympus OM-D E-M1 Mark II สามารถทำได้ถึง 60fps คือ 1 วินาทีสามารถเก็บได้ 60 ภาพ

แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น จริงๆแล้ว 14 fps ของ EOS-1D X Mark II เป็นแบบ continuous focus tracking คือโฟกัสต่อเนื่อง แต่ OM-D E-M1 Mark II เป็นแบบโฟกัสคงที่ ถ้า OM-D E-M1 Mark II ใช้ระบบ full focus tracking จะอยู่ที่ 11fps อันนี้ก็แล้วแต่การใช้งานต้องถามตัวเองว่าเราจำเป็นต้องใช้ถึงขั้นนี้ไหม

แต่ถ้าต้องการถ่ายต่อเนื่อง ก็มีอีกตัวเลือก เช่นของ Panasonic จะมีฟีเจอร์ถ่าย 4K แล้วสามารถเก็บภาพมาได้โดย 1 วิสามารถดึงภาพมาได้ 30 ภาพ เรียกได้ว่าไม่พลาดช็อตสำคัญๆแน่ๆ ผมเคยรีวิวไว้คลิ๊กอ่านได้ที่นี่

ความทนทาน

DSLR ส่วนใหญ่ จะมี weather sealed และวัสดุที่ใช้ดีทนทาน ส่วน mirrorless ต้องดูเป็นรุ่นๆ หลายรุ่นก็ไม่มี weather sealed แต่บางรุ่นสามารถลงไปถ่ายใต้น้ำได้เลย ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นติดลบ ก็ต้องดูเป็นรุ่นๆเหมือนกัน DSLR ระดับ High-End ส่วนใหญ่จะใช้งานได้ Mirrorless บางตัวก็ใช้งานได้เช่นกัน และในสภาพอากาศหนาวที่น่าเป็นห่วงสำหรับ mirrorless อีกอย่างคือแบต เพราะแบตจะหมดไวกว่าเดิม หากต้องไปถ่ายสภาพแบบนั้นบ่อยๆแนะนำอย่างยิ่งว่าควรซื้อแบตเพิ่ม

ราคา

หากคุณหวังว่ากล้องเล็กๆกระทัดรัดออกแบบมาเรียบง่าย จะมีราคาถูก มันอาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป 
ราคาถือว่าใกล้เคียงกัน ถ้าต้องการฟีเจอร์แบบครบๆเหมือน DSLR อาจถูกกว่าด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่าง ช่วงที่ Nikon D3300 เป็นกล้องเซนเซอร์ APS-C ที่ดีที่สุดของ Nikon ให้ความละเอียดภาพ 24MP และแน่นอนว่ามี viewfinder มาให้ และใช้แบต 1 ก้อน ได้ 700 ภาพ ซึ่งหากล้อง mirrorless ราคาใกล้เคียงและคุณภาพเหมือนกันยากในตลาด ถ้าเทียบกันตอนนั้นก็จะเป็น  Sony Alpha A6000 มี 24MP มีช่องมองภาพ EVF (mirrorless รุ่นถูกๆ จะไม่มี evf มาให้) และต้องซื้อแบตเพิ่มอีกก้อน ถึงจะพอเทียบกันได้ ซึ่งต้องจ่ายมากกว่า

สรุป

ภาพโดย Nadir Hashmi

DSLR และ Mirrorless ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปตามที่กล่าวข้างต้น แต่ละคนมีความต้องการที่ต่างกัน เลือกกล้องที่เหมาะกับตัวเอง ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อดีที่มีและยอมรับข้อเสียได้ก็เลือกตัวนั้น หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์ต่อผู้ที่ตัดสินใจซื้อกล้องไม่มากก็น้อย ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ เพื่อไม่ให้พลาดบทความดีๆต่อไป ติดตามเราได้ที่ เฟสบุ๊ค FOTOFAKA

credits: tomsguide | techradar | photographylife | dps | whatdigitalcamera wikipedia