FOTOFAKA พาเที่ยว EP.3 : ดอยหลวงเชียงดาว

0

สวรรค์บนดินที่ใครๆก็ถวิลหา ว่าต้องไปซักครั้งในชีวิต ดอยหลวงเชียงดาวมาจากการเล่าขานว่า สูงเพียงดินเพียงดาว แต่แม้จะอยู่สูงซักแค่ไหนช่างภาพอย่างเราก็ต้องไปเก็บภาพซักครั้งในชีวิต ใช่แล้วนี่เป็นครั้งแรกของผมครับ ด้วยเวลาที่จำกัดไม่ได้เตรียมตัวหาข้อมูลอะไรไปเลย โชคดีที่ไปกับ FOTOJOURNEY เขาจัดการให้หมดแค่เอากล้องกับเสื้อผ้าไปก็พอ แถมแนะนำมุมถ่ายภาพ และเทคนิคถ่ายภาพให้ด้วย

ภาพไม่ได้ตกแต่งอะไรมากนะครับ ส่วนมากแค่ใส่ฟิลเตอร์ บทความนี้จะเน้นแนะนำมุมถ่ายรูป เทคนิคเล็กๆน้อยๆครับ พร้อมเรื่องราวการเดินทางครับ

เข็มสั้นชี้ที่เลข 8 เข็มยาวชี้ที่เลข 12 ก็เป็นเวลานัดพบกันเพื่อจะขึ้นดอยหลวงเชียงดาว เช้านี้ทีมงาน FOTOJOURNEY ขับรถมารับถึงโรงแรม แยกรถสองคันเพื่อความรวดเร็ว และนั่งสบายๆ มีพื้นที่วางกระเป๋ากล้อง

มาถึงจุดที่ชั่งกิโลกระเป๋า ทาง FOTOJOURNEY ขนอาหารทุกอย่างไปให้ แต่ถ้าเราอยากกินอะไรเพิ่มเติมส่วนตัวก็เอาไปเองได้ และน้ำหนัก 5 กิโลแรก FOTOJOURNEY ช่วยออกให้ฟรี

เทคนิคการถ่ายรูป: เก็บรายละเอียดท้องฟ้าและแสงลอดมาให้ครบ ให้กลุ่มต้นไม้ที่โดนแสงเป็นจุดสนใจในภาพ และแสดงความยิ่งใหญ่ของดอยสามพี่น้องเพื่อเพิ่มเรื่องราวของความเป็นดอยหลวงเชียงดาว

การเดินทางครั้งนี้แม้ใครไม่ขัดแต่เด่นหญ้าขัด ใช่แล้วเราไปทางเด่นหญ้าขัด เพราะทางปางวัวปิด และเส้นทางนี้เดินสบายกว่า จริงๆแค่เหตุผลอย่างหลังก็เพียงพอแล้วที่ผมจะไปทางนี้ เดินขึ้นเขาไม่ลำบากครับ มีวิวให้ชมสองข้างทาง เราไปวันที่เมฆเยอะ เจอแสงลอดมาจากก้อนเมฆบ่อยมาก

หนทางกว่า 8 กิโล ผมขึ้นมาถึงจุดกางเตนท์ 5 โมงเย็นพอดีเป๊ะ และแล้วนาทีแห่งการตัดสินใจก็เกิดขึ้น จะขึ้นต่อไปจุดชมวิวที่ไม่รู้จะได้ภาพสวยหรือเปล่าเพราะเมฆครึ้มมากหรือนอนพักสบายๆแล้วไปขึ้นพรุ่งนี้เย็นก็ได้ แต่ในการถ่ายภาพผมถือคติอยู่อย่างหนึ่งคือ “อย่าหวังน้ำบ่อหน้า” ถ้ามีโอกาสตอนนี้ก็ถ่ายเก็บไว้ก่อน เพราะฉะนั้นถึงจะล้าจากการเดินทางตลอด 5 ชั่วโมง ก็กัดฟันสู้ ยิ่งพี่เจ่าเพื่อนร่วมทางบอกว่าใช้เวลา 20 นาทีก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมาได้

แต่เวลาของเราไม่เท่ากัน 20 นาทีของนักวิ่งเทรลกับผมนั้นต่างกันนัก ผมใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการปีนเขาขึ้นไป ทางลำบากกว่าตอนขึ้นมาจุดกางเตนท์ เพราะมีการปีนป่าย สิ่งสำคัญคือถุงมือ เพราะนอกจากช่วยป้องกันหินบาดมือ แล้วป้องกันความหนาวเย็นที่มาเยือนหลังดวงอาทิตย์ลับท้องฟ้าไปแล้ว

ผมมาช้าไป ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว จากภาพข้างบนจุดชมวิวอยู่มุมบนขวาสังเกตดีๆจะเห็นคนตัวเล็กๆอยู่ ก่อนแสงจะหมดก็ต้องถ่ายเก็บไว้ก่อน

เทคนิคการถ่ายรูป: ถ่ายช่วงเวลาแสงเย็น แสงสีของฟ้าช่วยเพิ่มสีสันให้ภาพ ใช้กฏสามส่วนเก็บภูเขา 2 ส่วน ฟ้า 1 ส่วน และให้ดอยสามพี่น้องอยู่ตรงจุดตัด 9 ช่อง

มาถึงจุดชมวิว พอยังมีแสงลงเหลือให้ได้ถ่ายบ้าง พรุ่งนี้ค่อยแก้ตัวใหม่ ลงกลับไปกินข้าวและเช็ดตัวพักผ่อน ทำไมใช้คำว่าเช็ดตัวละ ทำไมไม่อาบน้ำ? เพราะที่นี่ไม่มีน้ำใช้ครับ ทิชชู่เปียกจะเป็นเพื่อนสนิทคุณเมื่อคุณมาดอยหลวงเชียงดาว

แม้ใจบอกว่าอยากนอนต่อ แต่นาฬิกาปลุกที่ดังยามตีสี่กว่าก็รบเร้าให้ลุกจากเตนท์ไปถ่ายแสงเช้าที่ดอยกิ่วลม จากดอยกิ่วลมก็จะเห็นเตนท์ที่เราพักอยู่ท่ามกลางหุบเขา

ว่ากันว่า “ช่างภาพ Landscape ต้องผิดหวังซะให้ชิน” และเช้านี้ก็ทำให้เราชินมากขึ้น หมอกปกคลุมไม่เห็นวิวเลย แม้การนั่งเฉยๆจิบกาแฟร้อนๆ ท่ามกลางบรรยากาศเย็นๆ มันจะฟิน แต่หากตั้งใจมาถ่ายภาพแล้ว ก็ต้องพยายามแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าหามุมอื่นถ่ายไปเรื่อยๆครับ

เทคนิคการถ่ายรูป ใช้เลนส์ Wide เข้าใกล้ดอกไม้ โดยให้ดอกไม้เป็นฉากหน้า ภูเขาเป็นฉากหลัง เพิ่มความลึกให้ภาพ
เทคนิคการถ่ายภาพ: ถ่ายแนวตั้งเพื่อเก็บฉากหน้าและฉากหลังให้ครบ และตัดสิ่งที่ไม่น่าสนใจด้านข้าง

แม้น้องฟ้าจะทำให้เราผิดหวัง แต่ก็มีน้องฟู้ดปลอบใจเราอยู่ ลงมาที่จุดกางเตนท์ก็มีอาหารอร่อยๆ รอเข้าปากเราอยู่ ไม่ต้องทำเองนะครับ ทีมงาน FOTOJOURNEY จ้างเชฟมาทำให้ครับ หน้าที่ของเราคือกิน นอน และก็ถ่าย(รูป)ครับ

อาหารประมาณ 4-5 อย่าง แต่ที่หมดเร็วที่สุดคืออาหารพื้นๆอย่างไข่เจียว หมดแล้วเขาก็ทำใหม่ให้ กินกันอย่างกะบุฟเฟ่ต์ ไม่รู้ว่าอร่อยเพราะอาหารอร่อยจริงๆ หรืออร่อยเพราะเหนื่อยและหิว แต่เอาเถอะอร่อยก็คืออร่อย ฮ่าๆๆ

ช่วงกลางวัน เวลาแห่งการตัดสินใจอีกครั้ง จะเลือกนอนในเตนท์สบายๆรอแสงเย็นแล้วค่อยขึ้นไปจุดชมวิว หรือจะไปตั้งแต่กลางวันเพื่อดูม้าเทวดาซึ่งเป็นชื่อเล่นของกวางผา แน่นอนว่ามาทั้งทีผมก็ต้องขึ้นไปอยู่แล้ว บุญมีแต่กรรมบัง ไกด์สามารถหาเจ้าม้าเทวดาให้เราได้ แต่ไม่มีเลนส์เทเลถ่าย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับพี่เจ่าผู้แบกเลนส์เทเลขึ้นมา สุดท้ายความพยายามก็มอบรางวัลให้กับพี่เจ่าครับ ผมเลยขอนุญาตพี่เจ่าเพื่อใช้ภาพมาฝากเพื่อนๆครับ

ภาพถ่ายโดยพี่เจ่า Sanchai Denmuanwong จะถ่ายกวางผาที่นี่ควรจะมีเลนส์ระยะ 400mm ขึ้นไป
เทคนิคการถ่ายภาพ: ใช้ระยะเลนส์ให้พอดี ใกล้ไปก็ไม่เห็นบรรยากาศและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ไกลไปก็ไม่เห็นคน วางคนบริเวณจุดตัด 9 ช่อง หันหน้าไปทางพื้นที่ว่างทางซ้าย เพื่อความสมดุล

ไม่ได้ถ่ายกวางผาก็ถ่ายเพื่อนร่วมทริปนี่แหละครับ ตอนเที่ยงด้านบนจุดชมวิว มีแดดแต่ไม่ร้อนนัก อากาศกำลังสบายๆ

เทคนิคการถ่ายภาพ: รอแสงเย็น ถ่ายติด under หน่อยๆ เพื่อเก็บรายละเอียดท้องฟ้า และช่วยให้มีเงาเพิ่มมิติให้ภาพ

เมื่อท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีทอง ผู้ขึ้นก็เริ่มทยอยขึ้นมาเพื่อเก็บภาพดวงอาทิตย์ตกคู่กับดอยสามพี่น้อง ก่อนดวงอาทิตย์ตกช่วงกลางวันผมก็พยายามหาฉากหน้า เล็งไว้ 2 ที่ คือดอกหญ้า และ ก้อนหิน แต่ให้ความสำคัญกับดอกหญ้ามากกว่าเพราะยังไม่เคยเห็นใครเคยถ่ายที่นี่ แต่ก้อนหินมีเยอะแล้ว พอตกเย็นเลยวิ่งไปที่ดอกหญ้าที่เล็งไว้

เทคนิคการถ่ายรูป: รอแสงเย็นส่องมาที่ดอกหญ้า ทำให้เกิดริมไลท์ ดอกไม้เรืองแสงเป็นฉากหน้า ดอยสามพี่น้อง และดวงอาทิตย์เป็นฉากหลัง

หากจะเปรียบเทียบแสงเย็นที่นี่ก็คงเหมือนเงินเดือน “มาไวไปไว” ผมกลับมาที่ฉากก้อนหินก็ไม่ทันเสียแล้ว เจ้าดวงอาทิตย์ก็กลับไปให้อีกฝั่งของโลกได้เชยชมต่อไป ด้านบนอยู่ดึกไม่ได้นะครับ ไม่เกินทุ่มเจ้าหน้าที่ก็ไล่ลงแล้ว

เทคนิคการถ่ายภาพ: ใช้ขาตั้ง เปิดความเร็วชัตเตอร์ 20 วินาที

ค่ำคืนอันเหน็บหนาวก็ผ่านไป นอนหลับๆตื่นๆด้วยความหนาวในเตนท์ ก็ต้องลุกไปถ่ายแสงเช้าตอนตี 5 ขึ้นมาถึงจุดชมวิวยังไม่ถึงเวลานัดกับแสงก็ถ่ายดาวเล่นๆไปก่อน

เมื่อดวงอาทิตย์เผยโฉม ต้นไม้ก็ได้รับแสงแรกหลังจากที่รอมาทั้งคืน ผมก็ได้ความรู้สึกที่อบอุ่นขึ้นมาบ้างหลังจากที่ต้องทนหนาวตั้งแต่ตีห้ากว่า ด้วยความที่ลมแรงมากกาแฟร้อนที่พี่เขาเตรียมให้ร้อนอยู่ได้ไม่ถึง 2 นาทีก็กลายเป็นกาแฟเย็น

เทคนิคการถ่ายรูป: ภาพนี้ตัวแบบจมไปหน่อย ถ้าไม่อยากให้จมต้องเดินเข้าไปข้างหน้าและถ่ายมุมต่ำ แต่จะไม่เห็นทะเลหมอกด้านหลัง หากอยากถ่ายมุมนี้และให้ตัวแบบไม่จมอาจให้ตัวแบบใส่ชุดที่เด่นกว่า หรือเพิ่มแสงไปที่ตัวแบบก็ได้
เทคนิคการถ่ายรูป: พยายามหามุมถ่ายรูปอื่นที่คนอื่นไม่ค่อยถ่ายกัน ภาพนี้วัดแสงให้ฉากหน้าเป็นเงา เพิ่มมิติและความน่าสนใจให้ภาพ

นิ้วที่สั่นก็กดชัตเตอร์ผ่านถุงมือ พยายามหามุมแปลกๆใหม่ๆ ถ่ายเรื่อยเปื่อย

เทคนิคการถ่ายรูป: มองหาแสง เงา เส้นสายที่น่าสนใจ ถ่ายเฉพาะจุดที่น่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องเก็บหมด ก็ดู Abstract หน่อยๆ (ภาพเต็มๆอยู่ด้านล่าง)

หลังจากถ่ายแสงเช้าเสร็จก็ลงไปกินข้าวและเดินทางกลับ ขากลับเจอแสงเงาสวยๆก็ถ่ายเล่นๆได้ตลอดครับ

ลงมาจากดอยก็สามารถมาถ่ายดอกซากุระกันต่อได้ครับ ต้องขอชมทีมงาน FOTOJOURNEY เลือกช่วงเวลาทริปได้ดีจริงๆ บริการดีมาก เฮฮาตลอดทริป และสอนเทคนิคถ่ายภาพ ได้ภาพสวยๆกลับบ้านกันไปทุกคน สุดท้ายหากบอกอะไรกับดอยหลวงเชียงดาวได้ คงต้องบอกประโยคเดียวว่า “แล้วเราจะกลับมาพบกันใหม่”

อ่านเพิ่มเติม 9 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนไปถ่ายรูปที่ดอยหลวงเชียงดาว