ก่อนจะเข้าเรื่องเทคนิคขอเกริ่นนำ ทำความรู้จักเจ้าดาวหางนีโอไวส์ นี้ก่อน ดาวหางนีโอไวส์ เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 7,125 ปี ซึ่งในช่วงเดือน กค. นี้สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและถ่ายภาพได้ และช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 20-23 ก.ค. 2563 นี้ เพราะดาวหางนีโอไวส์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 23 ก.ค.
ถ่ายได้ช่วงไหน?
ในวันที่ 18 ก.ค. เป็นต้นไปสามารถพบได้ตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือพบเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ตกเลย ถ้าช่วงที่เข้าใกล้โลกมากๆ ก็จะมีโอกาสเห็นในตอนเย็นๆ พลบค่ำด้วย ช่วงนั้นฟ้าจะสีสวย ภาพก็มีโอกาสออกมาสวยกว่าถ่ายตอนท้องฟ้าสีดำสนิท หลังจากวันที่ 23 จะค่อยๆจางลงไปเรื่อยๆ
อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายดาวหางนีโอไวส์
กล้องทั่วไปสามารถถ่ายได้ แต่ยิ่งเซนเซอร์ใหญ่ หรือฟูลเฟรมขึ้นไปก็จะรับแสงได้ดีกว่า ส่วนเรื่องเลนส์ควรใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง f/1.4 – f/2.8 จะทำให้รับแสงได้ดี มาดูตัวอย่างภาพจากแต่ละระยะกัน
เลนส์ระยะ 35 mm (บนกล้องฟูลเฟรม)

เลนส์ระยะ 50 mm (บนกล้องฟูลเฟรม)

เลนส์ระยะ 200 mm (บนกล้องฟูลเฟรม)

เทคนิคการถ่าย
ต้องถามก่อนว่าภาพในใจคุณเป็นแบบไหน ถ้าเอาแค่ท้องฟ้าและติดดาวหางไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่ใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเยอะๆ (ช่วง 85mm ขึ้นไป) ก็จะยิ่งเห็นดาวหางนีโอไวส์ชัดเจน
แต่สิ่งที่ช่างภาพ Landscape ชอบถ่ายคือให้มีฉากหน้าสวยๆด้วยดูจากตัวอย่างภาพด้านบน อันนี้เริ่มยากขึ้นมาแล้ว คุณต้องหาสถานที่สวยๆเป็นฉากหน้าในทิศทางที่ดาวหางอยู่ หากยิ่งใช้เลนส์เทเลความยาวโฟกัสเยอะๆ เช่น 200 mm ยิ่งต้องอยู่ห่างจากฉากหน้าเยอะ มาดูแอพและเว็บไซต์ที่ช่วยจัดการเรื่องนี้กัน
แอพและเว็บไซต์
Stellarium
Stellarium เป็นโปรแกรมฟรีโหลดเป็นแอพหรือดูผ่านเว็บก็ได้ เรากรอกสถานที่ที่เราอยู่ไป และโปรแกรมจะโชว์ให้เห็นท้องฟ้าให้เราดูในแต่ละช่วงเวลา สามารถเลือกเวลาในอนาคตเพื่อวางแผนล่วงหน้าได้ คลิ๊กที่ NEOWISE แอพ Stellarium จะแสดงทิศทางตำแหน่งของดาวหางนีโอไวส์ให้เราเอง

Clear Outside
Clear Outside เป็นแอพสำหรับดูก้อนเมฆ มีให้โหลดทั้ง iOS และ Android เราหาสถานที่ฟ้าเคลียร์ๆ จะมีโอกาสมองเห็นดาวหางนีโอไวส์ ได้มากกว่า
The Photographer’s Ephemeris
The Photographer’s Ephemeris หรือ TPE เป็นแอพที่ต้องจ่ายเงินแต่สามารถใช้บนเว็บได้ฟรี แอพนี้ไว้มาร์คจุดให้เราเห็นชัดเจนว่าฉากหน้าเราจะถ่ายตรงไหน ฉากหลัง(ท้องฟ้าและดาวหาง) อยู่มุมไหน และเราควรไปยืนจุดไหน ซึ่งเราก็ได้ข้อมูลจากแอพ Stellarium เรื่องทิศทางและตำแหน่งของดาวหางก่อนหน้านี้แล้ว พล็อตจุดวางแผนไว้ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น
PhotoHound
PhotoHound ไว้หาจุดถ่ายภาพสวยๆทั่วโลก ใช้ฟรีแต่ต้องสมัครสมาชิก
แต่ถ้าคุณงง และดูยุ่งยาก ทาง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลมาว่าในวันที่ 18 ก.ค. เป็นต้นไปสามารถพบได้ตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

การตั้งค่าถ่ายดาวหาง
การถ่ายดาวหากใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าเกินไปดาวอื่นๆ จะลากเป็นเส้นไปด้วย ซึ่งความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้จะขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ตามสูตร 500 ÷ (Crop factor x Focal length) = Shutter speed
แต่ถ้าขี้เกียจใช้สูตรลองใช้ตารางนี้ดูครับ

ใช้รูรับแสงกว้างๆเช่น f/2.8 และ ISO เริ่มต้น 3200 และดูตามสภาพแสง ณ ขณะนั้น

เทคนิคเพิ่มเติม
นอกจากหาฉากหน้าสวยๆแล้ว เวลาที่จะถ่ายสำคัญมากแนะนำให้ไปถึงสถานที่จริงช่วงเย็นๆ 4-5 โมง เล็งมุมและฉากหน้าเอาไว้ ช่วง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ฟ้าเริ่มสวยดาวเริ่มโผล่ขึ้นมา ก็ลองถ่ายดู สามารถเก็บภาพสวยๆได้ หรือถ่ายช่วง Blue Hour ตัดกับแสงเมืองก็ได้ (อ่าน 5 ทิปดีๆ ในการถ่ายรูปเมืองให้สวย) แนะนำให้ลองดูก่อนวันที่ 22-23 ก.ค. นี้ เผื่อผิดแผนจะได้แก้ไขหามุมใหม่ได้ทันครับ
หวังว่าคงได้เห็นภาพดาวหางนีโอไวส์จากเพื่อนๆชาว FOTOFAKA กันนะครับ ถ่ายได้อย่าลืมเอามาอวดกันล่ะ
บทความที่คล้ายกัน
การถ่าย Supermoon
credits: NARIT | Mathew Browne