เข้าใจเรื่องแสงธรรมชาติกับการถ่ายรูป: ภาค 1 คุณภาพของแสง

0

แสงมีความแตกต่างกัน จะส่งผลต่อภาพให้มีความต่างกัน การทำความเข้าใจถึงความต่างของมัน และใช้มันอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณได้ภาพที่ดีขึ้น และสำหรับการเริ่มต้นการทำความเข้าใจเรื่องแสง ควรเริ่มจากแสงพื้นฐานที่เราเจอทุกวันนั่นคือ แสงธรรมชาติ

บทความเรื่องแสงธรรมชาตินี้ ผู้เขียนคือ Oded Wagenstein ช่างภาพที่เคยทำงานกับ National Geographic, BBC และ Time จะแบ่งเป็นสามภาคดังนี้ 

  • ทำความเข้าใจและศึกษาความต่างของ แสงแข็งและแสงนุ่ม รวมถึงข้อดีข้อเสีย
  • เข้าใจเรื่องการใช้สีของแสง พร้อมการใช้งานเพื่อสร้างสรรค์ภาพที่เราต้องการ
  • เข้าใจทิศทางของแสง ความเข้มของแสง ที่ส่งผลต่อภาพ

แม้ว่าคุณเป็นช่างภาพวีดีโอ ที่ทำงานกับไฟนิ่งและแสงแฟลช บทความนี้ก็มีประโยชน์กับคุณ ถ้าคุณเข้าใจเรื่องแสงธรรมชาติ คุณสามารถนำไปประยุกต์ได้กับทุกประเภทของการถ่ายภาพ 

George Eastman ผู้ก่อตั้ง Kodak ได้กล่าวว่า “จงโอบกอดแสง ชื่นชมมัน และรักมัน เหนือสิ่งอื่นใด คุณรู้จักและทำความเข้าใจมัน มันคุ้มค่า และคุณจะเข้าถึงสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพ”

คุณภาพของแสง เข้าใจแสงแข็ง และแสงนุ่ม

แสงนุ่ม

แสงนุ่มมีระดับของแสงที่ต่ำ ไม่ค่อยมีเงา และมีความต่างของส่วนมืดและส่วนสว่างที่น้อย

ภาพนี้แสงนุ่ม ไม่ค่อยมีเงา ถ่ายช่วงที่เมฆมาก เฉดสีจะอยู่โทนเย็น

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นได้เมื่อไหร่? ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เวลา และสถานที่ที่คุณอยู่ ส่วนใหญ่จะเกิดตอนเมฆเยอะ ฟ้าครึ้ม รวมถึงช่วง หลังดวงอาทิตย์ขึ้น และ ก่อนดวงอาทิตย์ตก (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่คุณอยู่ด้วย)

แสงนุ่มไม่ได้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคลเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการนำเสนออะไร อารมณ์แบบไหนในภาพของคุณ (จะพูดให้ฟังทีหลัง)

ข้อควรระวัง

เนื่องจากไม่ค่อยมีแสงเข้ามาในกล้องมาก ต้องระวังเรื่องความเร็วชัตเตอร์ มิเช่นนั้นอาจได้ภาพที่เบลอ

แสงแข็ง

แสงแข็งมีระดับความเข้มของแสงมาก เห็นเงาชัด ส่วนต่างของส่วนมืดและส่วนสว่างมาก (dynamic range สูง) และเนื่องจาก contrast สูง ทำให้แสงดูเข้ม และสีดูอิ่มตัวมากขึ้น และกรณีนี้ต้องระวังเรื่องรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างที่มากเกินไป อาจทำให้สูญเสียรายละเอียดได้

แสงแข็งจะมีตอนไหน แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แต่โดยทั่วไปจะเจอในช่วงระหว่างวัน 

ข้อควรระวัง

เนื่องจาก dynamic range สูง แม้สายตาเราจะเห็นรายละเอียดทั้งหมด แต่กล้องเก็บรายละเอียดได้ไม่หมด อาจมีส่วนที่สว่างและมืดเกินไป ทำให้เสียความละเอียด หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ได้ ก็อาจใช้แฟลช หรือ ใช้การแต่งภาพ หรือถ่ายคร่อม มาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

จงลืมเกี่ยวกับแสงที่ดี

เนื่องจากข้อควรระวังที่บอกไปแล้ว ช่างภาพหลายคนจะเลี่ยงการถ่ายช่วงแสงแข็ง และชอบถ่ายในสภาวะแสงนุ่ม แต่อย่างไรก็ตามแสงนุ่มก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ถูกต้องเสมอไปในการถ่ายภาพบุคคล

ภาพนี้ถ่ายที่ถนน Havana มันร้อนมาก เลยใช้แสงแข็งเพื่อบ่งบอกถึงความรู้สึกดังกล่าว

สิ่งที่ต้องตะหนักคือ คุณต้องใช้แสงให้เข้ากับเรื่องราวความรู้สึกที่คุณต้องการจะสื่อ อย่างที่เราได้เรียนรู้ไปข้างต้น ไม่มีแสงไหนที่ดีในทุกสถานการณ์ แต่ละแสงมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เรียนรู้และนำมาใช้ให้เหมาะกับเรื่องราวของเรา เช่น แสงนุ่มช่วงดวงอาทิตย์กำลังตก เหมาะสำหรับฉากโรแมนติกของคู่รัก แต่คงไม่เหมาะหากนำไปใช้ถ่าย ที่แสดงถึงความลำบากของคนงานก่อสร้าง ฉะนั้นอย่าคิดว่าแสงไหนดี แสงไหนแย่ แต่ให้คิดถึงเรืองความเหมาะสมของแต่ละแสงดีกว่า

การวางแผน

เมื่อเราทราบถึงการเหมาะสมที่จะใช้แสงต่างๆ ขั้นตอนต่อมาคือการวางแผน การเช็คสภาพอากาศ ตรวจเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก เช่นต้องการแสงนุ่ม ควรรู้ว่าควรไปถ่ายที่ไหน เวลาช่วงดวงอาทิตย์ ขึ้น หรือ ตก อย่าเสียเวลากับการนอนแม้แน่นาทีเดียว 

  1. จับคู่ช่วงเวลาขอแต่ละวันให้เข้ากับอารมณ์ภาพที่ต้องการ
    เลือกช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดเพื่อที่ออกไปถ่ายภาพเพื่อเก็บผลลัพธ์ที่ต้องการ
  2. จับคู่เรื่องราวกับสภาพแสงที่มีอยู่
    บางครั้งต้องคิดว่าสภาพแสงที่มีอยู่ตอนนี้สามารถถ่ายเรื่องราวที่เราต้องการแบบไหนได้บ้าง

ความยืดหยุ่น

บางครั้งถึงแม้วางแผนไว้อย่างดี แต่สภาพอากาศเปลี่ยน ทำให้แผนการทั้งหมดใช้ไม่ได้ เช่นผมเคยไปทำงานที่ภาคใต้ของไทย จะไปถ่ายหาด และเกาะ ก็เกิดมรสุมใหญ่ขึ้น ผมกลัวว่าไม่สามารถส่งภาพให้กับบรรณาธิการได้

เมื่อเราสู้กับธรรมชาติไม่ได้ก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนแผนมาถ่ายหมู่บ้านชาวเลแทน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับโปรเจคยักษ์ 7 ปีของผม ที่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวชาวเลที่ถูกผลกระทบจากคลื่นยักษ์ซึนามิ

ภาพชาวเล ภาคใต้ของไทย ในสภาพอากาศที่เมฆครึ้ม ให้แสงนุ่ม สีฟ้าโทนเย็น ทำให้ได้ความรู้สึกแนว cold winter ซึ่งเข้ากับเรื่องราวที่นำเสนอ 

หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ฟ้าใส และเมื่อผมส่งภาพชาวเลไปให้บรรณาธิการ เธอก็ตัดสินใจให้ผมถ่ายเรื่องราวนี้ต่อ 

ฉะนั้นอย่าจำกัดตัวเองกับสภาพแสงต่างๆ ควรพลิกแพลงและหาโอกาสจากสภาพแวดล้อมที่มี และในฐานะนักเล่าเรื่องด้วยภาพ พยายามเลือกแสงให้เข้ากับเรื่องราวที่จะนำเสนอ วางแผนให้ดี และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

แบบฝึกหัด

แบบฝึกที่ 1 ใช้ over exposure ในการถ่ายแสงแข็ง

เวลา บ่าย

สถานที่ ข้างนอกอาคาร

ขั้นที่ 1 วางตัวแบบ(อาจเพื่อน หรือญาติ หรือสัตว์) ไว้ใต้ดวงอาทิตย์ช่วงกลางวัน

ขั้นที่ 2 ใช้เวลาทำความเข้าใจสภาวะแสงขณะนั้น ว่ามันส่องมายังตัวแบบ แล้วเกิดอะไรขึ้น สังเกตุเห็น contrast ระหว่างส่วนมืดกับสว่าง แสงตกมายังหัวแล้วส่วนตามืดหรือไม่

ขั้นที่ 3 ใช้โหมด Aperture Priority (A ใน Nikon, Av ใน Canon) ชดเชยแสงไปด้านบวก ให้แสงเข้าไปยังตาตัวแบบเพียงพอ อย่าตกใจว่าจะมีส่วนไหนเสียรายละเอียด หรือสว่างเกินไป แบบฝึกหัดนี้ไม่ต้องดู histogram ว่าส่วนไหนหลุด highlight  แต่เน้นให้คิดถึงเรื่องราวในภาพ

แสงแข็งช่วยสร้างความรู้สึก ความหยาบ ขรุขระ ในภาพบุคคลภาพนี้ ช่วยเน้นเรื่องราวที่จะสื่อ

แบบฝึกหัดที่ 2 ถ่ายโหมดขาวดำในสภาพแสงนุ่ม

เวลา ถ่ายช่วงฟ้าครึ้ม หรือช่วงเช้า และเย็น

สถานที่ นอกอาคาร

ขั้นตอนแรก ขอคนแปลกหน้าถ่ายภาพ อาจส่งภาพให้เธอทีหลัง

ขั้นที่ 2 เปลี่ยน picture control เป็นโหมดขาวดำ

ขั้นที่ 3 ถ่ายภาพบุคคลแบบใกล้ สังเกตแสงและเงาที่ส่องมายังหน้า สร้างเงานุ่มๆ และรู้สึกถึงความลึก

ตอนที่ 2: เข้าใจเรื่องแสงธรรมชาติกับการถ่ายรูป: ภาค 2 สีของแสง

ตอนที่ 3: เข้าใจเรื่องแสงธรรมชาติกับการถ่ายรูป: ภาค 3 ทิศทางของแสง

credits: Oded Wagenstein , dps