คู่มือการถ่าย SEASCAPE ฉบับสมบูรณ์ (ภาค 3)

0

ไปทะเล ใครๆก็อยากได้ภาพทะเลสวยๆกลับบ้าน บทความนี้จะช่วยแนะนำให้คุณถ่ายภาพทะเลสวยๆกลับมาได้ เนื่องจากบทความยาวมากเลยแบ่งเป็นหลายภาค สามารถอ่าน 2 ภาคย้อนหลังได้ทั้ง ภาคแรก และ ภาค2 เลยครับ

(อ่าน ภาค1ภาค2ภาค3ภาค4ภาค5, ภาค6, ภาค7)

บทความนี้จะพูดถึงการตั้งค่ากล้องและถ่ายทะเลในช่วงเวลาต่างๆ พร้อมแล้วลุยกันเลย

เทคนิคและการตั้งค่า

การถ่าย Landscape ส่วนใหญ่ ควรจะใช้รูรับแสงแคบๆ เพื่่อให้เกิดความชัดลึก ส่วนใหญ่แล้ว รูรับแสง f/8 เป็นอย่างน้อย บ่อยครั้งที่จะใช้ f/11 ถึง f/16 และตัวเลขยิ่งเยอะ รูแคบ แสงยิ่งเข้ามาน้อยลง

เมื่อแสงเข้าน้อย ก็ต้องให้ความเร็วชัตเตอร์ก็ช้าลง เพื่อรับแสงเข้ามาได้มากขึ้นเป็นการชดเชยกัน แต่ถ้าไม่อยากให้ความเร็วชัตเตอร์ช้า ก็ต้องไปปรับ ISO ให้สูงขึ้น แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Noise ที่เพิ่มขึ้น กล้องแต่ละตัวจะให้ระดับของ Noise ที่ต่างกัน คุณต้องทดลองกล้องของคุณและดูว่า ISO ระดับไหนคุณถึงจะรับได้ 

6 ประเภทของแสงในแต่ละช่วงเวลา

  1. มืดสนิท ไม่มีแสงเลย เหมาะสำหรับถ่ายดาว
  2. แสงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น (หรือหลังพลบค่ำ) เหมาะสำหรับถ่าย long exposure (ลากสปีตชัตเตอร์ยาวๆ) เพื่อให้เกิดภาพฟุ้งชวนฝัน
  3. แสงช่วงดวงอาทิตย์ขึ้น (หรือช่วงดวงอาทิตย์ตก) ให้ความรู้สึกอบอุ่นและสว่าง มีแสงสีส้มอยู่บนก้อนเมฆ
  4. แสงหลังดวงอาทิตย์ขึ้น (หรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น) อบอุ่น แข็งๆ ให้เงาที่ยาว สว่าง เปิดเผยพื้นผิวต่างๆ
  5. แสงช่วงกลางวัน เกิดแสงแข็ง
  6. แสงที่แย่ เป็นแสงที่แบนและดูน่าเบิ่อ

1.มืดสนิท

มืดสนิทมีแสงน้อยหรือไม่มีแสงเลย สภาพแวดล้อมแบบนี้เหมาะสำหรับถ่ายดาว การถ่ายดาวนั้นแนะนำให้ใช้ f/2.8 ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 20-30 วินาที เพื่อให้ดาวไม่เป็นเส้น ISO แล้วแต่แสง หากมีแสงเยอะอาจใช้ 1600 หากแสงน้อยอาจต้องใช้ถึง 6400 สำหรับการถ่ายดาวเป็นเส้นๆ ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์อย่างน้อย 30 วินาที ไปถึงลากเป็นชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะถ่าย 30 วินาที หลายรูปแล้วไปรวมในโปรแกรมทีหลัง

Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/2.8, 20 sec, ISO 1600, 15 mm

2.ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และ หลังดวงอาทิตย์ตก

สำหรับผมแล้วชอบแสงช่วงนี้มาก เป็นช่วงเวลาก่อนกวงอาทิตย์ขึ้น 30-40 นาที หรือ หลังดวงอาทิตย์ตก 30-40 นาที ช่วงเวลานี้มีแสงพอที่จะเห็นรายละเอียดพื้นผิวต่างๆ แสงน้อยถ่าย Long exposure ง่าย น้ำทะเลดูนุ่ม เมฆมีการเคลื่อนไหว คุณต้องสนใจมองหารายละเอียดเล็กๆน้อยๆ รายละเอียดเล็กๆสามารถสร้างความแตกต่างในภาพถ่ายได้

การตั้งค่าการถ่าย Long Exposure

โดยทั่วไปต้องใช้รูรับแสง f/8-f/11 เพื่อให้รูปของคุณอยู่ในโฟกัส ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และ หลังดวงอาทิตย์ตกนั้น คุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 30-180 วินาที กล้องบางตัวอาจไม่รองรับการลากความเร็วชัตเตอร์ยาวๆ ก็ต้องเพิ่ม ISO แทน ไม่มีกฏตายตัวว่าความเร็ซชัตเตอร์เท่าไหร่ เมฆจะดูเคลื่อนไหว ขึ้นอยู่กับความเร็วของเมฆด้วย

โดยทั่วไปสำหรับแสงแรกผมมักจะใช้  f/8, ISO 100, 30-60 วินาที ถ้าต้องการชัดลึกมากขึ้นก็จะใช้ f/10-f/11, ISO 200, 30-180+ วินาที ยิ่งใกล้ดวงอาทิตย์ขึ้น ความเร็วชัตเตอร์จะค่อยถูกปรับให้น้อยลง

ช่วงแสงแรกของวัน 30-40 นาทีก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

ฉากหน้าที่สามารถหาได้

มองหาหินที่รูร่าง รูปทรงสวยๆ

แอ่งน้ำ ถ้าขนาดใหญ่พอมันจะสะท้อนก้อนเมฆได้ หรือสะท้อนแสงๆ ใกล้ๆก้อนหินที่มืด พยายามลองปรับความสูงต่ำกล้อง เพื่อหามุมทีดีที่สุด

Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/11, 25 sec, ISO 100, 20 mm

ช่วง 10-20 นาทีก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

มี Texture มากขึ้น สามารถดึง ISO ขึ้นนิดหน่อยเพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ 1-5 วินาที เพื่อให้ได้ฉากหน้าที่น่าสนใจขึ้น

ฉากหน้า

  • เส้นสายน้ำ ชัตเตอร์ประมาณ 1-5 วินาทีช่วยให้ดูเหมือนน้ำกำลังไหลได้ ควรถ่ายช่วงที่น้ำกำลังไหลลง มันให้เส้นสายน้ำที่สวยงาม ส่วนใหญ่เป็นเส้นตรง ยกเว้นไหลไปรอบๆหินจะเกิดเส้นเป็นวงกลม  การตั้งความเร็วชัตเตอร์ขึ้นอยู่กับควสามเร็วของน้ำด้วย โดยทั่วไป 2-5 วินาที จะดูเป็นเส้นที่น่าสนใจ ฉากนี้รูปแบบนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ช่างภาพ Seascape
  • น้ำตกบนหิน เมื่อน้ำไหลผ่านด้านบนของหิน มันจะให้รูปแบบของน้ำตก ความเร็วชัตเตอร์อย่างต่ำ 1 วินาทีจะให้ภาพที่น่าสนใจ และผมไม่แนะนำให้เกิน 5 วินาที
  • การสะท้อนบนทราย เกิดขึ้นช่วงน้ำลด หรือคลื่นค่อยๆลดลงไปจากหาด การเคลื่อนไหวนี้สามารถทำให้เกิดการสะท้อนได้ ขอบน้ำจะทำให้เกิดเส้นที่น่าสนใจ มันจะหายไปเร็วมาก คุณต้องยืนหาจุด และเฝ้ารอคลื่นสวยๆ

 

Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/11, 8 sec, ISO 100, 26 mm

ช่วง 1-5 นาทีก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือ 1-5 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตก

ดวงอาทิตย์ใกล้ขึ้นแล้ว เมื่อควบคุมรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์จะอยู่ที่ประมาณ 1/10 ถึง 2 วินาที ช่วงเวลานี้สั้นมากต้องใช้มันอย่างคุ้มค่าและฉลาด 

ช่วงนี้สามารถถ่ายคลื่นที่สาดเข้ามาที่หาดได้อย่างสวยงาม 1/10 วินาที – 1/3 วินาที ทำให้คลื่นดูมีความเคลื่อนไหวที่สวยงาม อาจต้องมีการปรับ ISO นิดหน่อยเพื่อให้ได้ ความเร็วชัตเตอร์ตามที่คุณต้องการ

Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/10, 0.8 sec, ISO 200, 19 mm

เพื่อให้ได้เส้นสายที่สวยงาม บางครั้งต้องเดินลงไปในน้ำทะเล แค่เปียกไม่เป็นไร แต่อย่าไปลึกเกินไป เพราะคลื่นอาจซัดจนคุณล้มได้ พยายามใส่กางเกงขาสั้น และรองเท้าที่ระบายน้ำได้ดี บางคนจะใช้บูทยาวๆ ก็มี

3.ช่วงดวงอาทิตย์ขึ้น

ช่วง 10 นาทีหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้นหรือ 10 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตก

ในที่สุด การรอคอยก็สิ้นสุดลง ดวงอาทิตย์มาแล้ววว!! แสงสว่างและความอบอุ่นได้ส่องมายังผืนโลกอีกครั้ง น้ำทะเลสีทองเป็นประกาย ทุกอย่างดูสว่างขึ้น แสงสีทองกระทบก้อนหินและพืชพันธุ์ต่างๆ หินสีทอง ฟ้าสีน้ำเงิน คุณสามารถใส่สีเขียวจากพืชพันธุ์ลงไปในสมการได้ด้วย (ลองอ่านเรื่องสีเพิ่มเติม

2 ทิปที่จะบอกนี้สำคัญมากๆ  ฟังดีๆล่ะ

หากคุณเรียนรู้เรืองสีแล้ว คุณต้องจำสีต่างๆในหัว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่คุณอาจไม่รู้เรื่องเหล่านี้

  1. เปิด Photoshop CC ไปที่ Windows –> Extensions –> Adobe Color Themes จานสีจะปรากฏขึ้นมาให้คุณสามารถเลือกใช้ได้เลย
  2. สำหรับช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นสีที่น่าสนใจจะเป็น สีฟ้า-สีส้ม เป็นคู่สีตรงข้าม  อาจเพิ่มเขียวเพื่อเป็น Triad ช่วงดวงอาทิตย์ตกอาจมีสีแดงเอะหน่อย เนื่องจากฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในวันนั้น

การตั้งค่ากล้องช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นและตก

รูรับแสงอาจต้องเพิ่มสูงถึง 16 และ ISO ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้แสงเยอะเกินไป  โดยทั่วไปความเร็วชัตเตอร์ 1/20 -1/10 คือจะเร็วสุดและยังให้ความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวอยู่ หากเร็วกว่านี้จะเป็นการหยุดความเคลื่อนไหว (freezing) แทน ซึ่งบางครั้งถ่ายความเร็วชัตเตอร์สูงก็ให้ภาพที่สวยได้ เช่นช่วงเวลาที่คลื่นกระแทกโขดหิน เป็นต้น ขึ้นอยู๋กับหลายปัจจัย ลองทดลองไปเรื่อย ตามความคิดสร้างสรรค์ของคุณ

ดวงอาทิตย์แฉก

ผมค่อนข้างมันใจว่าคุณคงเห็นดวงอาทิตย์แฉกๆมาบ้างแล้ว จริงๆแล้วมันก็ไม่ได้ถ่ายยากนัก หลักๆ คือตั้งค่ารูรับแสงให้แคบลง และทำแหล่งกำเนิดแสงให้เล็กลงเช่นหาอะไรมาบัง ซึ่งทาง antongorlin ได้เขียนบทความแยกไว้อย่างละเอียด ว่างๆแอดมินจะแปลมาให้อ่านกันอีกทีครับ

Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/16, 0.5 sec, ISO 100, 24 mm

วิธีถ่ายให้ได้แสงที่ดีที่สุด

คุณคงสงสัยว่า แสงที่ดีที่สุดในการถ่าย Seascape คืออะไร? แสงบางประเภทเหมาะสำหรับการถ่าย Landscape ทุกประเภท มีอยู่ 3 แบบที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งดวงอาทิตย์

  1. แสงข้าง อาจเป็นข้างซ้ายหรือขวาของคุณ
  2. แสงหน้า คือดวงอาทิตย์อยู่ด้านหน้าคุณ
  3. แสงหลังคือดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลังคุณ

แสงที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อมีช่องว่างระหว่างขอบฟ้า และก่อนเมฆ ให้ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมาได้ บางครั้งมันอาจไปยังช่องว่างระหว่างเมฆก็ให้ภาพที่สวยเช่นกัน

ดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลัง

แสงแบบนี้แย่สุด เกิดแสงแบน ไม่ค่อยมีมิติ พยายามมองหาวิวอื่นเพื่อให้ได้ทิศทางแสงที่ดีกว่า

แสงข้าง

ทำให้เกิดแสง เงา มิติ  และรายละเอียดที่สวยงาม ส่วนเงาไม่มืดจนเกินไป แสงแบบนี้จะเกิดช่วงเริ่มต้นของวันและเกือบสิ้นสุดวัน 

Nikon D80, Nikon 12-24. EXIF: f/9, 1/30 sec, ISO 100, 19 mm

แสงจากข้างหน้า

มีเหตุผลบางอย่างที่ช่างภาพบางคนหลีกเลี่ยงการถ่ายดวงอาทิตย์ที่อยู่ด้านหน้า มันถ่ายยากหน่อยแต่ผลลัพธ์นั้นคุ้มค่า คุณสามารถถ่ายดวงอาทิตย์เป็นแฉกได้อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คุณสามารถได้สีของเมฆสวยๆ และได้การสะท้อนแสงจากสิ่งต่างๆ แสงที่ต่างกันมากระหว่างฟ้ากับฉากหน้า อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้ฟิลเตอร์ หรือถ่ายคร่อม เก็บรายละเอียดในแต่ละส่วน แล้วมารวมกัน

Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/14, 0.3 sec, ISO 100, 30 mm

4. ช่วงหลังดวงอาทิตย์ขึ้น 10+ นาที และ ก่อนดวงอาทิตย์ตก 10+นาที

หลังดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นช่วงสุดท้ายของแสงที่ดีที่คุณจะได้ หรือที่เรียกว่า Golden Hour เพราะดวงอาทิตย์จะให้แสงที่เป็นสีส้มๆทองๆ  ความยาวของช่วง Golden hour อยู่ที่ฤดูกาลและสถานที่ ส่วนใหญ่ช่วงฤดูหนาวจะยาวนานกว่าช่วงฤดูร้อน การถ่ายช่วงนี้ยากที่จะจบในใบเดียว อาจต้องใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีกหรือถ่ายคร่อม เพื่อเก็บรายละเอียดมาให้ครบ

ควรโฟกัสที่

  • สี หินที่มีสีทอง ตะไคร่น้ำสีเขียวสด ท้องฟ้าสีฟ้า และหลายสีจากที่ต่างๆ พยายามอย่าใช้เยอะเกินไป
  • พื้นผิว หิน,ทราย,หน้าผา, และพื้นผิวต่างๆที่น่าสนใจ ลองมองหารอบๆ
  • การสะท้อน มองหาการสะท้อนจากแอ่งน้ำ หรือคลื่นที่ค่อยๆลดลงบนทราย
  • คลื่น แสงที่อยู่ด้านหน้าเรา แต่แสงอยู่ด้านหลังของคลื่น จะทำให้คลื่นมีสีและรายละเอียดที่สวยงาม
Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/22, 0.25 sec, ISO 50, 24 mm

5. แสงกลางวัน

หลายตำราบอกว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่คุณควรชิว ไปพักผ่อนเถอะไม่ต้องมาถ่าย แสงมันไม่สวย มีเงาแข็ง แต่จริงๆระหว่างวันก็สามารถสร้างภาพที่ดีได้

ช่วงเวลากลางวันจะให้ทรายที่ขาว สว่าง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับชายหาด และความใสของน้ำ หรือถ่ายมุมสูง

ช่วงเวลานี้อาจตั้งค่ากล้อง  f/8 – f/16, ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์แล้วแต่กล้องกำหนด 

Nikon D80, Nikon 12-24. EXIF: f/16, 1/200 sec, ISO 100, 12 mm

การถ่ายในสภาพอากาศที่แย่

บางครั้งสภาพอากาศมันแย่ ฟ้ามืดครึ้ม คุณอาจสงสัยว่าไม่มีดวงอาทิตย์แล้วควรถ่ายอะไร ก็ถ่ายแบบครึ้มๆมันนิแหละ ก็ให้อารมณ์ไปอีกแบบ เป็นแนว MOODY SEASCAPE มีเทคนิคเล็กๆน้อยมาฝากกัน

  • ถ่ายให้ดูมืดๆหน่อย จะเพิ่มอารมณ์ครึ้มๆมากขึ้น
  • ท้องฟ้ามืด ผิวทะเลจะมีการสะท้อนแสงน้อย จะเห็นสีที่แท้จริงของน้ำมากขึ้น
  • ช่วงเวลานี้ไม่มีเงาแข็ง อาจดูแบนๆซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการแต่งภาพเพิ่มเติม อาจไปปรับแถบ Dehaze หรือเพิ่ม Contrast
  • ช่วยให้ภาพออกมาดูดราม่าๆ
Nikon D750, Tamron 15-30. EXIF: f/13, 1/6 sec, ISO 100, 24 mm

ความสวยงามในหมู่เมฆครึ้ม

บางครั้งเมฆเยอะจนถอดใจอยากจะกลับ แต่พอเฝ้ารอ 5-10 นาที แสงลอดเมฆเหล่านั้นออกมาทำให้เกิดภาพที่สวยงามขึ้นมาได้ การรอคอยบางครั้งก็ผิดหวังบางครั้งก็สมหวัง นั่นแหละเสน่ห์ของ Landscape

จบไปอีกภาคแล้ว ภาคต่อไปจะพูดถึงไอเดียในการถ่าย Seascape แบบ LONG EXPOSURE และการถ่ายคลื่นแบบต่างๆกันครับ

credits: antongorlin