เทคนิคการถ่ายภาพ Still Life โดย อ.ศรศักดิ์ ศักดิ์บดินทร์

0
อาจารย์ SORNSAK SAKBODIN นอกจากจะมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังเป็นคนที่มีน้ำใจเผยแพร่ความรู้อยู่สม่ำเสมอ วันนี้ผมขอนำเทคนิคเล็กๆน้อยๆที่ท่านได้เผยแพร่บนเฟสบุ๊คมาฝากกันครับ

ภาพโดย SORNSAK SAKBODIN

ผมมักจะแนะนำให้ผู้ที่สนใจการถ่ายภาพแนว Still Life ศึกษาภาพจาก Paintings มากกว่า Photos เพราะ Paintings คือต้นแบบ เป็น Tradition Still Life มากกว่า และใช้แสงธรรมชาติเป็นหลัก…พยายามมองหาว่าเขาใช้อะไรเป็น objects บ้าง เขาใช้ composition กันอย่างไร ใช้แสงลักษณะไหน ใช้อะไรเป็น backdrop (ฉากหลัง) และโทนสีเป็นอย่างไร การใช้สีกับการจัดเซ็ทเข้ากันอย่างไร และก็อยากให้ลองเลียนแบบ นำมาใช้ถ่ายเป็นแบบฝึกหัดในระยะเริ่มต้น เพื่อสร้างประสบการณ์ เมื่อเข้าใจดีขึ้น และรู้สึกคล่องแล้ว ก็ให้ถ่ายจากความคิดของเราเอง
ในส่วนของ Still Life Photos มักจะใช้แสงประดิษฐ์เป็นหลัก ขาดความประณีตในการใช้ และจัดองค์ประกอบกว่า Paintings และก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในความหมายของสิ่งที่ใช้เป็น objects เท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะหนักไปเชิงใช้เพื่อประกอบเซ็ทให้ดูสวยงามแต่ขาดเรื่องราว หรือใช้ในเชิงพานิชย์มากกว่า…Still Life Photos ที่ดีๆก็มีแยะครับ ปะปนกันอยู่ แต่ที่ดีจริงๆนั้นต้องค้นกันหนักหน่อย ค่อนข้างจะหายากอยู่
ความยากของการถ่ายภาพ Still Life นั้นอยู่ที่การเลือกและความเข้าใจในความหมายของสิ่งที่เลือกมาใช้ในการถ่าย ส่วนการจัดเซ็ทนั้น จะทำเป็นเซ็ทเล็ก หรือใหญ่ก็ได้ตามใจชอบ การวางรูปแบบของภาพ (format) การจัดเซ็ท (setup) การจัดองค์ประกอบ (composition) การให้แสง (lighting) เป็นตัวบ่งบอกรสนิยมของผู้ถ่าย (taste)

Format

การวางรูปแบบของภาพ มีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ เช่น สี่เหลี่ยมจตุรัส, สี่เหลี่ยมผืนผ้า, วงกลม (round หรือ circle) และวงรี (oval) เป็นต้น การเลือกรูปแบบเป็นเรื่องของรสนิยม หรือความชอบส่วนตัว และความเหมาะสมของการจัด composition แต่ที่นิยมกันก็จะมี สี่เหลี่ยมจตุรัส และสี่เหลี่ยมผืนผ้า
สี่เหลี่ยมจตุรัส (Square format) : รูปแบบในลักษณะนี้มักจะไม่ค่อยได้เห็นนัก เนื่องจากมีความยากในการจัด composition ให้ดีได้ แต่ก็สามารถที่จะนำไปใช้ได้กับเซ็ทที่มีการใช้ subject น้อยๆ ได้ดี
สี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangular format) : แบ่งออกได้สองรูปแบบ คือแนวนอน (landscape format) และแนวตั้ง (portrait format) … แนวนอนเป็นแบบพื้นฐานที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะให้ความยืดหยุ่นในการจัด composition ได้ดีกว่า และง่ายกว่าแนวตั้ง แต่ในบางโอกาส บาง object จะดูดีกว่าในแนวตั้ง

Setup

แรกเลย เราต้องตัดสินใจว่าจะเลือกถ่ายอะไร จำนวนมาก หรือน้อย แล้วก็เตรียมหาของไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ถ่ายไป หาของไป หากยังไม่ชำนาญเรื่องการใช้แสง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเลือกใช้สิ่งของที่มันวาว หรือสะท้อนแสงง่าย
เราสามารถที่จะใช้ object เพียงชิ้นเดียว หรือเป็นสิบก็ได้ในการถ่าย แต่การใช้ของมาก การจัด composition ก็จะยากขึ้นเป็นลำดับ และก็จะต้องแน่ใจว่า สิ่งของต่างๆที่จะนำมาใช้ในเซ็ทนั้น จะเข้ากันได้ ไปด้วยกันได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเภทของสิ่งของ หรือว่าประโยชน์ในการใช้สอย…ทางที่ดี เลือกใช้น้อยชิ้นไว้ก่อน อาจจะเริ่มด้วยชิ้นเดียวอย่างที่บอก หากว่าดูไม่ดี ต้องการเพิ่มให้มากกว่า ก็ค่อยๆเพิ่มเอา แต่สิ่งที่เพิ่มเข้าไปควรจะไปกันได้กับ สิ่งที่เป็น object หลัก
ในการจัดถ่าย เราต้องมีพื้นที่ให้พอกับความต้องการ ต้องมีโต๊ะในการจัดเซ็ท ตั้งไฟประดิษฐ์ (ถ้าใช้) หรือตำแหน่งที่ใกล้กับหน้าต่าง (หากใช้แสงธรรมชาติ) และควรจะต้องแน่ใจด้วยว่า บริเวณที่จะใช้ถ่ายและโต๊ะที่จะใช้นี้ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ได้นาน นานพอที่จะจบการถ่าย ซึ่งบางครั้งอาจจะใช้เวลาถึง 2 – 3 วัน กว่า composition จะลงตัว…บางทีเกือบจะลงตัวแล้ว แต่จะต้องใช้โต๊ะ หรือพื้นที่ตรงนั้น ก็จะต้องรื้อเซ็ท แล้วเริ่มต้นกันใหม่หมด หากจะเกิดขึ้นอย่างนั้น แนะนำให้ถ่ายเก็บขั้นตอนก่อนรื้อ จะได้เร็วขึ้นในครั้งต่อไป – บางคนสามารถที่จะถ่ายจบได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
จากนั้นก็เลือกวัสดุที่จะใช้เป็น Backdrop อาจจะเป็นผ้า, กระดาษ, ไม้, ภาพวาด หรือว่ากำแพง ก็ว่ากันไป แต่ให้เหมาะ ให้เข้ากันกับสิ่งที่จะใช้เป็น subject matter

Composition

เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าจัดอย่างไรจึงจะสวย จะงาม บางครั้งเราอาจจะเห็นภาพสวยๆ การจัดวางดูเป็นธรรมชาติ เป็นไปอย่างลงตัว ทำให้ดูเหมือนกับว่าไม่มีการใช้ composition ถ้าลองสังเกตุให้ดี ก็จะเห็นมันมีอยู่จริง และบางครั้งการจัดวางจะเห็นได้ชัดเจนว่าได้มีการใช้ composition ซึ่งมันดูไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติเท่าไรนัก
ปัญหาสำคัญในการจัด composition คือ ความหลากหลายของ objects พยายามอย่าจัดให้ออกมาเป็นเลขคู่ หลีกเลี่ยงการใช้ object ที่เหมือนกันสองชิ้น พยายามใช้สิ่งของที่มีรูปร่างต่างกัน มี texture ต่างกัน ขนาดและความสูงต่างกัน และเว้นระยะช่องไฟให้ต่างกัน…แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่จำเป็น แต่การใช้ Rule of Thirds ก็มีส่วนช่วยในการสร้างความสมดุลให้กับภาพได้เป็นอย่างดี ในเรื่องของสีก็เช่นกัน พยายามอย่าให้มีมากจนดูเป็นลูกกวาด และไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ objects ที่ดูหรู แปลกตา และราคาสูง

Lighting

ไม่ว่าจะถ่ายภาพแนวใด Lighting เป็นสิ่งสำคัญทั้งนั้น ในงาน still life เราสามารถที่จะใช้แสงได้ทุกประเภทตามปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นแสงประดิษฐ์แบบต่อเนื่อง (continuous light) ไฟแฟลช (flash light) หรือแสงธรรมชาติ (natural light) และก็สามารถที่จะใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ หรือว่าเป็นวันๆก็ได้ หรือว่าทำไปได้เรื่อยๆจนกว่าจะเห็นว่าสมบูรณ์ … เมื่อใช้ไฟประดิษฐ์ เวลาไม่ใช่อุปสรรค ถ่ายได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นแสงธรรมชาติ เวลาอาจจะน้อยไปหน่อย แต่ก็สามารถที่จะทำต่อในวันรุ่งขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรใช้แสงให้ถูกกับสิ่งที่จะถ่าย เพราะสิ่งของบางอย่างอยู่ได้ไม่นาน อย่างเช่น ผัก ผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น

Taste

สิ่งสำคัญอย่างสุดท้ายที่นอกเหนือไปจากที่เอ่ยมาข้างบนแล้ว ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งแรกเลยของขั้นตอนทั้งหมด คือ รสนิยมของผู้ถ่าย