โครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ครั้งที่ 23 ประจำปี 2560
หลักการและเหตุผล / ที่มาของโครงการ
การบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่รุนแรงถึงขั้นวิกฤตเริ่มมีทางออก หลังรัฐบาลประกาศนโยบาย เดินหน้าป้องกันปราบปรามขบวนการค้าไม้และบุกรุกที่ดินของรัฐให้สิ้นซาก หลังจากผืนป่าจำนวนมากถูกแผ้วถางจนโล่งเตียนจนนำมาซึ่งภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ดินโคลนถล่ม พื้นที่ป่าทั้งประเทศซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ 102.1 ล้านไร่ ของเนื้อที่ประเทศรวม 321 ล้านไร่หรือร้อยละ 31.57 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 หรือ 128.3 ล้านไร่ เพื่อการอนุรักษ์ดิน น้ำและทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งฟื้นสภาพป่าให้กลับคืนมาโดยเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อ
- หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกครอบครองภายใน 1 ปี
- ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และยั่งยืนภายใน 2 ปี
- ฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วประเทศให้มีสภาพสมบูรณ์ภายใน 2-10 ปี
ทั้งนี้จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์พิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
- ยุทธศาสตร์ ผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ กลยุทธ์สำคัญ อาทิหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจป้องกันปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าประจำภาค ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สื่อมวลชน ภาคเอกชน ยึดคืนพื้นที่ป่า
- ยุทธศาสตร์ ปลูกจิตสำนึกรักผืนป่าของแผ่นดิน โดยผลักดันเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนทุกระดับ อาทิ จัดตั้งองค์กรแนวร่วมภาคประชาชน ร่วมกับทุกภาคส่วนให้มีการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่มีความภูมิใจในการปฏิบัติงาน
- ยุทธศาสตร์ ปฏิรูประบบการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะระเบียบข้อกฎหมาย การจัดโครง สร้างองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยปรับปรุงระบบพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ให้มีเอกภาพ อาทิ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลป่าไม้และที่ดินทำกิน ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เป็นต้น
- ยุทธศาสตร์ ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าไม้อย่างยั่งยืน กลยุทธ์สำคัญอาทิ จัดระบบการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอาทิ จัดตั้งป่าชุมชน ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจให้คนสามารถอยู่ร่วมกัน เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการฟื้นฟูและดูแลป่าอย่างยั่งยืน
กลุ่มทรู โดยทรูปลูกปัญญา และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มุ่งมั่นตั้งใจใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษ ร่วมกันจัดตั้งและดำเนินกิจกรรมภายใต้ โครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2538 เพื่อเชิญชวนให้ชาวไทยเกิดความสนใจในธรรมชาติ อยากเข้าไปใกล้ชิด สัมผัสความงามของป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดความงดงามเหล่านั้น ผ่านภาพถ่าย เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละปีมีผู้สนใจส่งภาพเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก ทรูปลูกปัญญายังคงเดินหน้าสานต่อเจตนารมย์ที่จะปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะประจักษ์แล้วว่า หากใครที่ได้เข้าไปสัมผัสความงามอันแสนบริสุทธิ์ของป่าไม้และสัตว์ป่า ก็จะเกิดความรัก หวงแหน ตระหนัก รวมถึงเห็นคุณค่าของธรรมชาติ จนกลายเป็นความคิดที่จะอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าบนโลกใบนี้ให้สมบูรณ์ยั่งยืนสืบไป
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป
- สัมผัส เห็นถึงคุณค่า และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีต่อทรัพยากรสัตว์ป่าและป่าไม้
- ได้มีโอกาสเผยแพร่ประสบการณ์ ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราวผ่านภาพถ่าย
- เกิดจิตสำนึกรัก หวงแหน รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทรัพยากรสัตว์ป่าและป่าไม้ร่วมกัน
- มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าและป่าไม้แก่แผ่นดิน
- ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าและป่าไม้ในการสร้างสมดุลของธรรมชาติ เพื่อให้ทุกสรรพสิ่งดำรงอยู่ได้สืบไป
การประกวดแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
- ระดับบุคคลทั่วไป
ภาพประเภทสัตว์ป่า แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย คือ
- ภาพนก เช่น เป็ด ไก่ป่า เหยี่ยว เป็นต้น
- ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้าง เสือ กวาง ลิง เลียงผา เป็นต้น
- ภาพสัตว์อื่นๆ เช่น สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ แมลง เป็นต้น
ภาพประเภทป่าไม้ แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
- ภาพ Landscape คือ ภาพธรรมชาติในมุมกว้าง แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์และงดงามของ
ธรรมชาติโดยรวม เช่น ภาพทิวเขา สายหมอก น้ำตก ทุ่งหญ้า ป่าดิบ เป็นต้น
- ภาพ Macro คือ ภาพธรรมชาติในมุมที่เฉพาะเจาะจง เพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงรายละเอียดความงดงาม
ของธรรมชาติ เช่น เห็ด มอส เฟิร์น ดอกไม้ กล้วยไม้ ใบไม้ เป็นต้น
- ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
- ภาพประเภทสัตว์ป่า (ไม่แบ่งประเภทย่อย)
- ภาพประเภทป่าไม้ (ไม่แบ่งประเภทย่อย)
* ทั้งสองระดับสามารถส่งภาพได้ 2 ประเภทๆ ละไม่เกิน 5 ภาพ (สัตว์ป่า 5 ภาพ / ป่าไม้ 5 ภาพ
รวมทั้งหมดไม่เกิน 10 ภาพ)
เกณฑ์การตัดสิน
- การถ่ายทอดแนวคิด อารมณ์ และการสื่อความหมายภายใต้แนวคิด “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ”
- ความสวยงามและการจัดวางองค์ประกอบตามหลักทัศนศิลป์
- ความยาก-ง่ายและเทคนิคการถ่ายภาพ
รูปแบบของไฟล์ภาพ และวิธีการส่งภาพเข้าประกวด
รูปแบบของไฟล์
- ต้องเป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล หรือสแกนจากฟิล์ม
- ไฟล์ภาพที่ส่งต้องเป็นไฟล์ภาพความละเอียดสูงที่มีขนาดด้านที่สั้นที่สุดไม่ต่ำกว่า 2500 pixels ที่ความละเอียด 300 dpi และต้องไม่มีลายน้ำ เครดิตภาพ ตัวอักษร หรือกราฟฟิกใดๆ ลงบนภาพ รวมทั้งห้ามเว้นขอบภาพเป็นสีขาวหรือสีใดๆ
- รูปแบบของไฟล์ในแบบมาตรฐาน .JPEG เท่านั้น ไม่รับภาพที่เป็น RAW FILE และไฟล์ที่เป็นสกุลอื่น แต่ผู้ส่งภาพเข้าประกวดต้องส่งไฟล์ภาพต้นฉบับมายืนยันทุกภาพ ในกรณีที่ภาพได้รับรางวัล
- การใช้โปรแกรมในการโปรเซสภาพให้สามารถดำเนินการได้เฉพาะการปรับสี-แสงเท่านั้น ทั้งนี้ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสิน (ผู้ส่งภาพต้องเก็บภาพต้นฉบับไว้เพื่อตรวจสอบ ในกรณีคณะ กรรมการของผู้จัดประกวดมีความประสงค์ขอดูภาพต้นฉบับ จนกว่าการจัดการประกวดจะแล้วเสร็จลง)
วิธีการส่งภาพเข้าประกวด ส่งได้ 2 ช่องทาง คือ
- อัพโหลดไฟล์ภาพผ่านเว็บไซต์ trueplookpanya.com/truephotocontest ผู้ส่งภาพต้องเข้าไปทำการลงทะเบียนบนหน้าเว็บไซด์ โดยกรอกชื่อ และนามสกุลจริง รายละเอียด พร้อมอัพโหลดไฟล์ภาพที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 5 Mb และไม่เกิน 25 Mb
- ทางไปรษณีย์ แนบรายละเอียดผู้สมัคร ประกอบด้วยชื่อและนามสกุลจริง พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ อีเมล์และชื่อภาพที่ส่งเข้าประกวดพร้อมคำบรรยาย หรือพิมพ์เป็นไฟล์ข้อมูล แนบมาพร้อมกับไฟล์ภาพ Write ลง CD/DVD ในแผ่นเดียวกัน ส่งมายังฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มทรู
ระเบียบบังคับในการส่งภาพเข้าประกวด
- ลักษณะของภาพที่ส่งเข้าประกวด
- ต้องเป็นภาพที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 2 ปีก่อนวันสิ้นสุดกำหนดการส่งภาพเข้าประกวด
- ต้องเป็นภาพที่เจ้าของภาพไม่เคยส่งภาพนั้นเข้าประกวดที่ใด ๆ มาก่อน และ/หรือ ไม่เคยตีพิมพ์ และ/หรือ เผยแพร่ หรือโฆษณาในนิตยสาร หนังสือ สื่ออินเตอร์เน็ต หรือโพสต์ลงเว็บไซต์ (ไม่ว่าจะกระทำผ่านรูปแบบใดๆ อาทิ PC, Notebook, Smart Phone และ/หรือ Smart Device ใดๆ ก็ตาม) ยกเว้นการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าหรือเชิงพานิชย์
- ภาพที่เข้ารอบทุกภาพ (รวมถึงภาพที่ได้รับรางวัล) ให้ถือเป็นลิขสิทธิ์ร่วม ระหว่างเจ้าของภาพ และผู้จัดประกวด(คือกลุ่มทรูและกรมอุทยานแห่งชาติฯ) ตลอดอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย โดยผู้จัดประกวดมีสิทธินำภาพที่ผ่านเข้ารอบ (รวมถึงภาพที่ได้รับรางวัล) ไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ จัดพิมพ์เผยแพร่ลงในบรรจุภัณฑ์และสื่อต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร และ/หรือ ใช้ประโยชน์ทางด้านการตลาด อีกทั้งสามารถอนุญาตให้ใช้ภาพแก่บุคคลอื่น และ/หรือ จำหน่ายจ่ายโอนภาพให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และจ่ายค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่เจ้าของภาพอีก และในทำนองเดียวกัน ในกรณีที่เจ้าของภาพประสงค์จะแสวงหาประโยชน์จากภาพใดๆ ในส่วนของตน ก็ให้สามารถกระทำได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องขออนุญาต และ/หรือ จ่ายค่าตอบแทนใด ๆ ให้แก่ผู้จัดประกวดอีก ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้จัดประกวดมีการนำภาพที่เข้ารอบ (รวมถึงภาพที่ได้รับรางวัล) ใดๆ ไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ ผู้จัดประกวดจะแจ้งชื่อและนามสกุลของผู้ถ่ายแสดงไว้ใต้ภาพทุกภาพที่นำมาจัดแสดงภาพที่เข้ารอบทุกภาพ (รวมถึงภาพที่ได้รับรางวัล) จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จัดประกวดนับแต่เวลาที่ผู้จัดประกวดได้รับภาพนั้น ๆ โดยผู้จัดประกวดจะไม่คืนภาพให้แก่เจ้าของภาพไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม
- ภาพในประเภทสัตว์ป่า จะต้องเป็นภาพสัตว์ป่าที่พบและอาศัยในประเทศไทย และภาพในประเภทป่าไม้ จะต้องเป็นภาพที่ถ่ายในประเทศไทยเท่านั้น
- ต้องเป็นภาพที่จับองค์ประกอบและส่วนประกอบของภาพที่ปรากฏในขณะที่กดชัตเตอร์จริง ห้ามเพิ่มเติม หรือลบองค์ประกอบ และ/หรือ ส่วนประกอบของภาพ (Retouch) ภายหลังจากการกดชัตเตอร์แล้วเป็นอันขาด การตัดส่วนของภาพหลังจากการกดชัตเตอร์ (Crop) ให้สามารถกระทำได้
- หากพบว่าภาพที่ส่งมาประกวดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามกติกาการประกวดในข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีการทำผิดกติกาเกิดขึ้น ผู้ส่งภาพเข้าประกวดจะถูกตัดสิทธิ์ แม้ว่าจะได้รับการพิจารณาได้รับค่าตอบแทน และ/หรือ รางวัลใดรางวัลหนึ่งไปแล้ว หากมีการท้วงติงและสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำผิดกติกาจริง ผู้จัดประกวดสามารถยกเลิก และเปลี่ยนแปลงการตัดสิน รวมทั้งขอคืนค่าตอบแทน และ/หรือรางวัลได้ทั้งหมด
บุคคลที่ส่งภาพเข้าประกวด
- ผู้ที่ส่งภาพเข้าประกวดจะต้องเป็นเจ้าของภาพ และเป็นผู้ถ่ายภาพด้วยตนเอง ห้ามนำภาพของผู้อื่นมาส่งหรือส่งในนามผู้อื่นโดยเด็ดขาด
- มีสิทธิ์ส่งภาพประกวดในระดับเดียวเท่านั้น และสามารถส่งภาพเข้าประกวดได้ทั้ง 2 ประเภท
- ผู้ส่งภาพมีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงสุดรางวัลเดียวในแต่ละประเภท
- ผู้ถ่ายภาพและภาพถ่ายที่ได้ ต้องเป็นการดำเนินการภายใต้กฎระเบียบของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ
- ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่ตกแต่ง เปลี่ยนแปลง ปรับสภาพแวดล้อมธรรมชาติหรืออื่นใดเพื่อการถ่ายภาพ หากมีการกระทำดังกล่าว และสามารถพิสูจน์ได้ คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณางดหรือยกเลิกรางวัลที่มอบให้ และ/หรือ เรียกคืนรางวัลทั้งหมดได้ทันที และตัดสิทธิ์ในการเข้าประกวดภาพครั้งต่อไป ทั้งนี้ให้ถือดุลยพินิจของคณะกรรมการเป็นที่สุด
- สำหรับผู้ส่งภาพเข้าประกวดในระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องแนบเอกสารรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษาจากสถาบันที่กำลังศึกษา หรือสำเนาบัตรนักเรียน นิสิต นักศึกษา มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการส่งภาพประกวดในระดับบุคคลทั่วไป
- ให้ถือว่าเจ้าของภาพตกลงปฏิบัติตามกติกาต่างๆ ข้างต้น
- คณะกรรมการตัดสินภาพมีสิทธิ์กำหนดวิธีการตัดสิน และมติของคณะกรรมการถือเป็นข้อยุติ
รางวัลการประกวด
ระดับบุคคลทั่วไป
รางวัลยอดเยี่ยม
ประเภทสัตว์ป่า 1 รางวัล : ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ประเภทป่าไม้ 1 รางวัล : ถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
และรางวัลยอดเยี่ยมทั้ง 2 ประเภท (พิจารณาจากรางวัลที่ 1 ของแต่ละประเภทย่อย) จะได้รับ
· เงินรางวัลจากกลุ่มทรู เพิ่มอีกจำนวน 20,000 บาท (รวมเป็น 50,000 บาท)
· สิทธิ์พิเศษท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ พร้อมที่พัก
และค่าเข้าฟรี 1 ครั้ง ไม่เกิน 5 คน จำนวน 3 วัน 2 คืน
รางวัลที่ 1
ประเภทสัตว์ป่า 3 ประเภทย่อย จำนวน 3 รางวัล
ประเภทป่าไม้ 2 ประเภทย่อย จำนวน 2 รางวัล
- ถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เงินรางวัลจากกลุ่มทรู จำนวน 30,000 บาท
- สิทธิ์ท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ พร้อมที่พัก
และค่าเข้าฟรี 1 ครั้ง ไม่เกิน 5 คน จำนวน 3 วัน 2 คืน
รางวัลที่ 2
ประเภทสัตว์ป่า 3 ประเภทย่อย จำนวน 3 รางวัล
ประเภทป่าไม้ 2 ประเภทย่อย จำนวน 2 รางวัล
- โล่รางวัลจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เงินรางวัลจากกลุ่มทรู จำนวน 20,000 บาท
รางวัลที่ 3
ประเภทสัตว์ป่า 3 ประเภทย่อย จำนวน 3 รางวัล
ประเภทป่าไม้ 2 ประเภทย่อย จำนวน 2 รางวัล
- โล่รางวัลจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ
- เงินรางวัลจากกลุ่มทรู จำนวน 15,000 บาท
หมายเหตุ : ไม่มีรางวัลชมเชย และทุกรางวัลจะได้รับเกียรติบัตรจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกลุ่มทรู
ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
รางวัลที่ 1
ประเภทสัตว์ป่า และป่าไม้ (ประเภทละ 1 รางวัล รวม 2 รางวัล)
- เงินรางวัลจากกลุ่มทรู รางวัลละ 10,000 บาท
- ถ้วยรางวัล และเกียรติบัตรจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกลุ่มทรู
- สิทธิ์ท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ พร้อมที่พัก และค่าเข้าฟรี 1 ครั้ง ไม่เกิน 5 คน จำนวน 3 วัน 2 คืน
รางวัลที่ 2
ประเภทสัตว์ป่า และป่าไม้ (ประเภทละ 1 รางวัล รวม 2 รางวัล)
- เงินรางวัลจากกลุ่มทรู รางวัลละ 8,000 บาท
- โล่รางวัล และเกียรติบัตรจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกลุ่มทรู
รางวัลที่ 3
ประเภทสัตว์ป่า และป่าไม้ (ประเภทละ 1 รางวัล รวม 2 รางวัล)
- เงินรางวัลจากกลุ่มทรู รางวัลละ 5,000 บาท
- โล่รางวัล และเกียรติบัตรจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกลุ่มทรู
รางวัลชมเชย
ประเภทสัตว์ป่า และป่าไม้ (ประเภทละ 5 รางวัล รวม 10 รางวัล)
- เงินรางวัลจากกลุ่มทรู รางวัลละ 3,000 บาท
- ทุกรางวัลจะได้รับเกียรติบัตรจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกลุ่มทรู
หมายเหตุ : สิทธิ์ท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผู้รับรางวัลจะต้องประสานงาน
จอง และปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ ติดต่อสอบถาม รายละเอียดการใช้สิทธิ์ ดังนี้
สำนักอุทยานแห่งชาติ โทร 02 579 6666 ต่อ 1743 – 4 โทรสาร 02 579 5269
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โทร 02 579 6666 ต่อ 1641 – 2 โทรสาร 02 561 2917
ดูรายละเอียด- สอบถาม และส่งไปรษณีย์ที่
- ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม กลุ่มทรู
เลขที่ 18 อาคารทรูทาวเวอร์ ชั้น 18 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์ 02-764-9761 www.trueplookpanya.com
- สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 02-579-6666 ต่อ 1641-2
เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2560