ทำไมคุณถึงจำเป็นต้องใช้ ขาตั้งกล้อง

0
tripod,กล้อง,ถ่ายภาพ, ถ่ายรูป, หัดถ่ายภาพ, ช่างภาพ, เรียนถ่ายภาพ, เรียนถ่ายรูป, สอนถ่ายรูป, แต่งรูป , แต่งภาพ
tripod,กล้อง,ถ่ายภาพ, ถ่ายรูป, หัดถ่ายภาพ, ช่างภาพ, เรียนถ่ายภาพ, เรียนถ่ายรูป, สอนถ่ายรูป, แต่งรูป , แต่งภาพ
ไปเจอบทความของคุณ SORNSAK SAKBODIN เรื่องขาตั้งกล้อง (Tripod) เลยนำมาแบ่งปันครับ
ด้วยเหตุผลที่ดี Tripod ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีค่าชิ้นหนึ่งของวงการถ่ายภาพ แต่ใครจะรู้บ้างว่าพื้นฐานการใช้ของมันมีมานับเป็นร้อยๆปี ก่อนที่โลกจะรู้จักการถ่ายภาพด้วยซ้ำไป

และขาตั้งก็ไม่ได้มีไว้ให้ใช้เฉพาะในการถ่ายภาพเท่านั้น จิตรกรก็ใช้, การถ่ายภาพยนต์ก็ใช้, ทหารก็ใช้, การเดินเรือก็ต้องใช้, นักสำรวจก็ใช้, นักดาราศาสตร์ก็ใช้ และอื่นๆอีกมากมาย
ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ผมขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านทุกคนก่อน ว่าหลายคำที่ผมใช้ในบทความที่เขียนมานี้ เช่นคำว่า ของดี ของมีคุณภาพ ของที่จำเป็น ของที่ราคาถูก ของที่ราคาแพง ของที่เหมาะสม ของสำคัญ นั้น มาจากความรู้สึกและความเข้าใจของผมเอง ซึ่งอาจจะมีความหมายต่างกันไปในหมู่ผู้อ่าน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง หรือว่าขึ้นอยู่กับว่าผู้ใดจะให้ความสำคัญกับสิ่งใด หรือกับสิ่งที่ทำอยู่มากน้อยเพียงไร หรือให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ชิ้นใดมากกว่ากัน
ที่เกริ่นมาเช่นนี้ก็เพราะเผอิญได้ไปอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง และก็เผอิญได้ยิน ได้ฟังการสนทนาของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำงานทัดเทียมกัน เขาพูดถึงเรื่องของการทำงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นชิ้นเดียวกันที่ทุกคนทำด้วยกัน แต่มองเห็นความสำคัญของการนำเสนอ และอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่จะนำมาใช้แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมฟังแล้วก็อดไม่ได้ที่จะคล้อยตามแต่ละคนไป และก็คิดว่าแต่ละคนที่ถ่ายภาพ และกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ก็คงมีความเห็นแตกต่างกันออกไปในแต่ละอย่าง เช่นกัน
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการแนะนำให้คนที่ยังมองไม่เห็นถึงความสำคัญของอุปกรณ์เสริมช้ินหนึ่งของการถ่ายภาพที่เรียกว่า Tripod หรือขาตั้งกล้อง ซึ่งเขียนต่อเนื่องมาจากอุบัติเหตุและความหายนะ ที่เกิดขึ้นกับกล้องของผม ที่ได้เคยเขียนไว้ก่อนนี้…จากประสบการณ์จริง ได้พึงระวังเอาไว้
ในขณะที่ทุกคนรู้ว่าขาตั้งกล้องที่มีสามขา หรือ Tripods จะช่วยในการถ่ายภาพได้มาก คือจะช่วยให้มีความนิ่งและได้ภาพที่มีความคมชัดมากขึ้น ช่วยในการตั้งกล้องในการถ่ายภาพในสถานการณ์ที่ลำบากในการถือกล้องถ่าย และช่วยทำให้มีโอกาสได้ภาพจากสภาพของแสงที่ต่ำ หรือจากการถ่ายภาพที่ต้องใช้ ISO ต่ำ หรือเมื่อต้องถ่ายโดยการใช้ Time Exposure หรือว่าในการถ่ายภาพที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่ใช้มัน แต่หลายๆคนก็ยังละเลยที่จะใช้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ไม่จำเป็น
ขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่างภาพหลายต่อหลายคนอาจจะยังมองไม่เห็นถึงความสำคัญ หรือเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี หรือจะต้องใช้ หรือว่ามีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ให้ความสนใจในการนำมาใช้เท่าไรนัก เนื่องจากหลายคนเลือกที่จะใช้ฟิล์มที่มี ISO สูง หรือตั้ง ISO บนกล้องดิจิตัลให้สูงแทน และใช้ความไวของชัตเตอร์ที่สูงเพื่อกันความไหวของภาพ
แต่ผมแน่ใจว่าช่างภาพอาชีพ และช่างภาพสมัครเล่นที่จริงจังกับการถ่ายภาพ ส่วนมากมีขาตั้งกล้องกันอยู่แล้วทั้งนั้น และหลายต่อหลายคนก็มีมากกว่าหนึ่งตัว เพื่อรองรับการใช้งานในแต่ละสถานการณ์ หรือในการใช้กับกล้องแต่ละขนาด
ที่หลายคนบอกว่า Tripod ไม่สำคัญ ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เลยนั้น…ก็จริงอยู่ครับ เห็นด้วย แต่ก็กับการถ่ายภาพบางประเภทที่ต้องการความคล่องตัวสูง อยู่กับที่ไม่ได้ ต้องย้ายตำแหน่งในการถ่ายภาพอย่างเร็วตลอดเวลา เช่น ในการถ่ายภาพ street, ภาพสงคราม, การจราจล, กีฬาบางประเภท, ข่าวบางประเภท, fashion บางประเภท และกิจกรรมบางประเภท และภาพที่ไม่ต้องการกำลังขยายสูง
แต่การถ่ายภาพที่นอกเหนือไปจากนั้นหลายๆประเภท Tripod เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ทุกคนจะต้องใช้ เช่น ในการถ่ายภาพ Close Up, สถาปัตยกรรม, Landscapes, Still Life, Panorama และอีกหลายๆหรือในกรณีที่ผู้ถ่ายต้องใช้เลนส์ที่มีความยาวและหนัก ซึ่งจะต้องปักหลักอยู่ที่จุดเดียว หรืออาจจะต้องย้ายตำแหน่งบ้าง แต่ไม่ต้องทำอย่างรีบเร่ง ก็จำเป็นต้องใช้ขาตั้ง (ขอเพิ่มสายลั่นชัตเตอร์เข้าไปด้วย) เพื่อ…
1. ความคมชัดของภาพในการถ่ายภาพในแต่ละครั้ง (sharpness)
ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งที่เราสามารถที่จะใช้ความไวของชัตเตอร์ที่สูงพอ เช่นระหว่างความไว 1/250 – 1/1000 sec หรือฟิล์มที่มี ISO สูง หรือว่าตั้ง ISO บนกล้องดิจิตัลที่สูง เพื่อให้ใช้มือถือถ่ายได้ แต่ผลที่ได้จากการทดลอง ภาพ (จากเนกาตีฟ)ที่ได้รับการขยายที่ 11X14 ขึ้นไป เมื่อเทียบกันกับภาพที่ได้มาจากการใช้ขาตั้งถ่าย จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อใช้ขาตั้งภาพมีความคมชัดกว่าภาพที่ได้มาจากการถ่ายโดยมิได้ใช้ขาตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เลนส์ที่มีความยาวสูง หรือถ่ายระยะประชิด (macro)
(ภาพประกอบเพื่อความบันเทิง)
2. เพื่อให้ได้ความชัดลึกสูง (depth of field) ซึ่งเป็นการถ่ายที่จะต้องถ่ายด้วยการใช้หน้ากล้องที่แคบ เช่น จาก f/11 ขึ้นไป ทำให้เลนส์รับแสงได้น้อยลงจึงต้องไปเพิ่มเวลาในการรับแสง ดังนั้นจึงต้องไปเพิ่มระยะเวลาการปิดของชัตเตอร์ ความไวของชัตเตอร์สปีดก็จะต้องลดลง หรือใช้เวลามากขึ้น หากใช้มือมือในการถ่ายภาพ การขยับเขยื้อนเพียงนิดเดียวก็ทำให้ภาพเบลอร์ได้
3. เพื่อให้ได้คุณภาพของภาพที่ดี (capture quality) ซึ่งหมายถึงการได้ภาพที่ดี อันจะเกิดขึ้นได้จากการใช้ฟิล์มที่มี ISO ต่ำ เพื่อเป็นการลด grain ลง หรือด้วยการตั้ง ISO บนกล้องดิจิตัลให้ต่ำ เพื่อลด noise ที่จะเกิดขึ้น ขาตั้งเท่านั้นที่จะช่วยให้การถ่ายเป็นไปได้โดยไม่มีความไหว หรือได้ภาพเบลอร์
4. ขาตั้งจะช่วยทำให้การจัดองค์ประกอบต่างๆเป็นไปได้ง่ายขึ้น(framing precision and composition) ขาตั้งจะทำให้เราสามารถตั้งกล้องไว้ได้ในตำแหน่งและระดับที่ต้องการ ซึ่งจะอยู่ในระดับที่คงที่ เมื่อเราเลือกตำแหน่งที่จะถ่ายแน่นอนแล้ว จะทำให้การถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (frame to frame) เพื่อจะใช้ทำเป็นภาพ panorama อยู่ในระดับเดียวกัน หรือในการหมุนกล้อง (panning) ให้คล่องตัวมากขึ้นและอยู่ในระดับเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยให้การถ่ายที่จะต้องก้ม-เงย (tilting) เป็นไปได้ง่ายขึ้น และช่วยทำให้การถ่ายภาพเดียวกันไม่เปลี่ยนตำแหน่ง ในการที่ต้องการเปลี่ยน exposure หลายครั้ง และช่วยในการ compose ภาพให้ดีขึ้น
5. ช่วยให้การใช้เลนส์ที่มีความยาว, ความใหญ่และหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Extending focal-length range) การใช้เลนส์ที่มีความยาวสูง ไม่ว่าจะเป็น fix focal length หรือว่า Super Zoom ในการถ่ายนก หรืออะไรก็ตาม กำลังของการขยายของมันจะสูง ซึ่งการสั่นไหวเพียงแค่นิดเดียวก็จะทำให้ภาพเบลอร์ได้ ขาตั้งช่วยได้
6. ช่วยทำให้การถ่ายภาพในสภาพที่เป็นไปเกือบจะไม่ได้ เป็นไปได้(Extending photographic range) ในการถ่ายภาพบางประเภท หากไม่มีขาตั้งก็หมดหวังที่จะได้ภาพ หรือได้มาก็ไม่ดีพอ อย่างเช่นในการถ่ายภาพนก ถ่ายภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติ, ถ่ายภาพกลางคืน, ถ่ายภาพด้วยการใช้ time exposures, ถ่ายภาพตัวเองด้วยการใช้ self-timer, ถ่าย macro, ถ่ายสถาปัตยกรรม, ถ่ายดาว, ถ่ายธรรมชาติ เป็นต้น
7. ช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (Enhancing creative expression) แทนที่จะเป็นการยกกล้องขึ้นมาแล้วถ่ายสิ่งที่เห็น การถ่ายภาพด้วยการใช้ขาตั้งจะทำให้เราถ่ายภาพด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งการเลือกตำแหน่งและการ compose ดังนั้นจึงทำให้การถ่ายภาพช้าลง ซึ่งก็จะทำให้เราได้มีโอกาส “มอง” มากขึ้น ถี่ถ้วน และละเอียดขึ้น ทำให้เรามีโอกาสได้คิดมากขึ้นในการที่จะนำเสนอภาพ (…ไม่ได้หมายความว่าการถ่ายภาพในลักษณะ grabshot, snapshot หรือถ่ายในลักษณะ photojournalists จะไม่ดี เพราะบางครั้งการจับการเคลื่อนไหว หรือหยุดวินาทีนั้นไว้ เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพมีความโดดเด่น ซึ่งก็มีตัวอย่างดีๆให้เห็นจากช่างภาพที่มีชื่อเสียงมากมาย – Decisive Moments…HCB Henri Cartier-Bresson ท่านได้ว่าเอาไว้)
(ภาพประกอบเพื่อความบันเทิง)
8. ประโยชน์ที่นอกเหนือไปจากเป็นขาตั้ง (flexibility) นอกเหนือไปจากใช้เป็นที่ติดตั้งกล้องแล้ว ยังสามารถใช้เป็นขาตั้งไฟ, ติดตั้งแฟลช, reflectors, กรุยทางในการเดินป่า, ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับเจ้าถิ่นได้ หรือว่าใช้แขวนสัมภาระได้